อาลัยมหาเถรรัตตัญญู สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

มงคลข่าวสด

อาลัยมหาเถรรัตตัญญู สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ถึงคราวสูญเสียครั้งใหญ่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้ละสังขารด้วยวัยวุฒิ 101 ปี พรรษา 81

หลังจากเข้ารักษาอาการอาพาธ ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.2561 ด้วยอาการเหนื่อยหอบและซึม คณะแพทย์ผู้ดูแลได้ให้การรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต และทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องตลอดมา

ล่วงถึงวันเสาร์ที่ 10 พ.ย.2561 มีอาการทรุดลง เกิดภาวะการหายใจและหัวใจ ล้มเหลว มรณภาพด้วยอาการสงบ

สร้างความเศร้าสลดอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ และกรรมการมหาเถรสมาคม

มีนามเดิมว่า กงมา ก่อบุญ (ภายหลังพระอุปัชฌาย์เปลี่ยนชื่อให้เป็นมานิต) เกิดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2460 ณ บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ครอบครัวประกอบอาชีพทําไร่ทํานา

ช่วงวัยเยาว์ บิดามารดาพาไปบวชเป็นสามเณรที่วัดบ้านบ่อชะเนง มีโอกาสออกธุดงค์ติดตามพระธุดงค์กัมมัฏฐาน สายพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ ไปยังเขตจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนญัตติเป็นสามเณรธรรมยุต มีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2479 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์ อยู่ในกำกับดูแลของพระ เนกขัมมมุนี (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพปัญญามุนี)

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2480 ณ พระอุโบสถวัดสัมพันธวงศ์ มีพระมหารัชมังคลาจารย์ (เทศ) เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสุวรรณรังษี (สุวรรณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูปลัดเส็ง ทินนวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2481 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ พ.ศ.2499 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

ด้วยความเป็นผู้ที่มีความสามารถ จึงได้รับมอบหมายหน้าที่ภายในวัด เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ ธรรมบท และเป็นครูใหญ่สำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์

สร้างคุณูปการไว้มากมาย อาทิ จัดโครงการและเป็นพระอุปัชฌาย์บรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณร จำนวน 41 รูป เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ณ วัดสัมพันธวงศ์ พ.ศ.2546 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2485 เป็นเลขานุการเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดธนบุรี-นนทบุรี-ปทุมธานี

พ.ศ.2511 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์และเป็นรองเจ้าคณะภาค 8-10 (ธรรมยุต) พ.ศ.2514 เป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์และเป็นพระอุปัชฌาย์พ.ศ.2516 เป็นรองเจ้าคณะภาค 10-11 (ธรรมยุต)

พ.ศ.2519 เป็นเจ้าคณะภาค 11 (ธรรมยุต) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 (ธรรมยุต)

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2499 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระอริยเมธี พ.ศ.2507 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชกวี พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพปัญญามุนี/b

พ.ศ.2519 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมบัณฑิต พ.ศ.2532 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่พระอุดมญาณโมลี

วันที่ 5 ธ.ค.2544 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

แม้ท่านจะมีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ แต่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ยังคงปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เน้นการฝึกจิตสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญาในลักษณะของการภาวนามัยปัญญา ตามแนวทางหลักของพระภิกษุธรรมยุตฝ่ายกองทัพธรรมสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สามารถผสมผสานและปฏิบัติได้อย่างลงตัวเหมาะสม จนมีคำเรียกขานในศรัทธาชนว่าท่านเป็นพระกัมมัฏฐานกลางกรุง

กล่าวได้ว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นพระเถระที่มีอายุสูงสุดในมหาเถรสมาคม และเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุถึง 100 ปี เป็นรูปที่ 4 ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย

แต่ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งเกิดล้มป่วยอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง

ท้ายที่สุด มรณภาพอย่างสงบ เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 10 พ.ย.2561

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน