ไหว้พระวัดหัวลำโพง เสริมสิริมงคลปีใหม่

ไหว้พระวัดหัวลำโพง – ใจกลางกรุง บริเวณพระรามที่ 4 สี่แยกสามย่าน นอกจากศูนย์การค้าจามจุรีสแควร์ ที่ตั้งอยู่โดดเด่นเป็นสง่าเคียงคู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และย่านธุรกิจสามย่าน สี่พระยา และสุรวงศ์

มีใครหลายคนทีเดียวที่ผ่านไปแถวถนนพระราม สี่ สังเกตดีๆ จะมองเห็นพระอารามหลวงแห่งหนึ่งคือวัดหัวลำโพงตั้งอยู่เลขที่ 728 ถนนพระราม 4 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ

ไหว้พระวัดหัวลำโพง

วัดหัวลำโพง เดิมชื่อวัดวัวลำพอง เป็นวัดราษฎร์ ใครเป็นคนสร้างและสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่คาดว่าคงสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ทั้งนี้ โดยอาศัยการสันนิษฐานจากรูปทรงของอุโบสถหลังเก่าและเจดีย์ด้านหลัง ซึ่งสร้างคู่กันมา

ความเป็นมาของวัดนี้มีผู้ประมวลไว้ โดยอาศัยจากการเล่าสืบต่อกันมาว่า กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลาย เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2310 ซึ่งเป็นการเสียกรุงครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์

มีประชาชนบางส่วนได้พากันอพยพครอบครัวลงมา ทางใต้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณวัดหัวลำโพงในปัจจุบันนี้ ด้วยเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสม ยังไม่มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์

ไหว้พระวัดหัวลำโพง

ต่อมาจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น และให้ชื่อว่า วัดวัวลำพอง ตามความนิยมที่ชื่อของวัดจะพ้องกับชื่อหมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านกับวัดส่วนใหญ่ของไทยเรามักมีชื่อเหมือนกัน หรือมีความหมายเดียวกัน

.. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างทางรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากสถานีกรุงเทพฯ ขึ้นไปบริเวณนอกเมืองใกล้กับคูเมืองชั้นนอก คือคลองผดุงกรุงเกษม พระราชทานนามว่า สถานีหัวลำโพง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดวัวลำพองประมาณ 2 กิโลเมตร

ไหว้พระวัดหัวลำโพง

ประมาณปี พ..2447 ราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูกาลทอดกฐิน จากหลักฐานและคำบอกเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระกฐินในครั้งนั้น วันเดียวกันถึง 3 วัด ตามลำดับดังนี้คือ วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) และวัดวัวลำพอง (วัดหัวลำโพง)

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดวัวลำพองนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ พระราชทานนามว่า วัดหัวลำโพง

ไหว้พระวัดหัวลำโพง

วันที่ 18 ..2545 วัดหัวลำโพงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยกฐานะวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

ทั้งนี้ วัดหัวลำโพงมีการคมนาคมที่สะดวก สามารถนั่งรถประจำทางได้หลายสาย 4, 45, 46, 47, 67, ปอ.4 และอีกหลายสาย ลงป้ายบริเวณด้านหน้าวัดหัวลำโพง หรืออีกเส้นทางหนึ่ง โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ลงที่สถานีสามย่าน ใช้ทางเข้าออก สถานี 1 หน้าวัดหัวลำโพง เดินขึ้นบันไดเลื่อนขึ้นมา ก็จะเห็นประตูวัดหัวลำโพง

ไหว้พระวัดหัวลำโพง

หรืออีกทางหนึ่ง ใช้รถยนต์ส่วนตัวขับเลี้ยวรถเข้ามาจอดที่วัด แต่ต้องรับบัตรจอดรถชั่วโมงละ 10 บาท เข้ามาจอดรถได้เลย หรือแวะขับเข้าไปจอดอาคารจอดรถยนต์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 5 ชั้น สำหรับเป็นที่จอดรถยนต์ของประชาชนที่มาติดต่อกับทางวัด

บรรยากาศภายในวัดหัวลำโพง ถึงแม้จะไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวาง แต่บริเวณรอบวัดโดยรวมมีความสะอาดสะอ้าน แลดูเจริญหูเจริญตา ถังขยะจัดตั้งวางอย่างเป็นระเบียบ ศาลาริมน้ำมีความร่มรื่นเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนคลายอารมณ์

ด้านหน้าทางเข้าวัด อยู่ติดถนนใหญ่ใกล้บริเวณสามย่าน มีความคึกคักแทบตลอดทั้งวัน ในบางช่วงจะมีร้านค้ามาตั้งวางขายของตรงประตูทางเข้าวัด และถึงจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาวางขายของหน้าวัดบ้าง แต่ก็ไม่ได้สร้างความสกปรกเสียหายภายในวัดแต่อย่างใด

สำหรับต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกภายในวัดมีอยู่ไม่มากมายนัก แต่ก็พอสร้างความร่มรื่นเย็นสบายพอสมควร

บริเวณด้านหน้าวัด เป็นที่ตั้งของ พระอุโบสถ มีความสวยงามและสะอาดสะอ้าน แสดงให้เห็นถึงการจัดระบบการทำความสะอาดเป็นอย่างดี

ลองเดินขึ้นไปกัน จะพบว่าโบสถ์สวยมากๆ เสาทำด้วยหินอ่อนสวยงามมาก พระอุโบสถเป็นแบบทรงไทยจัตุรมุข 3 ชั้น พื้นและฝาผนังปูด้วยหินอ่อนและหินแกรนิต กว้าง 16.99 เมตร ยาว 37.59 เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ตรงกลางมียอดมณฑป ประกอบด้วย ฉัตรฐานมณฑปมีครุฑทรงสุบรรณทั้ง 4 ด้าน ติดช่อฟ้าใบระกา เป็นพญานาคสามเศียร หน้าบันมีลวดลายประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เหนือครุฑทั้ง 4 ด้าน

ไหว้พระวัดหัวลำโพง

ประตูและหน้าต่างมีซุ้มยอดมณฑปครึ่งซีกติด ลายปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี มีประตูด้านหน้า 3 ประตู บานประตูและบานหน้าต่างด้านในด้านนอกประดับมุกลวดลาย มีจิตรกรรมฝาผนัง 4 ด้าน เพดานลวดลายประดับโคมไฟ ช่อไฟระย้าจากต่างประเทศ รอบอุโบสถด้านนอกมีเชิงชายหลังคาประดับลวดลาย มีคันทวยเทพนมและหัวเสาปูน ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี

ส่วนระเบียงด้านนอกพระอุโบสถมีทางเดินปู ด้วยหินอ่อนและหินแกรนิต มีศาลารายทรงจัตุรมุขยอดมณฑป 4 หลัง ประจำ 4 ทิศ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป อดีตบูรพาจารย์ มีซุ้มระฆังทรงไทย

ด้านในเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สวยสดงดงามยิ่งเกินคำบรรยาย

ปูชนียวัตถุที่สำคัญในพระอุโบสถคือ พระพุทธมงคล พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ลงรักปิดทอง บนฐานชั้นแรกเป็นที่ประดิษฐานพระอัครสาวกสององค์บนฐานหินอ่อนแกะบัวหงาย เบื้องซ้ายพระโมคคัลลานะ เบื้องขวาพระสารีบุตร ใต้ฐานชุกชีบรรจุพระพุทธรูปปางต่างๆ

หลังจากไหว้พระกันแล้ว ก็ออกมาตีระฆังรอบนอกกัน ชื่อเสียงจะได้โด่งดังเหมือนดังระฆัง

สำหรับกิจกรรมหนึ่งที่เป็นยอดฮิตสำหรับวัด แห่งนี้คือ การทำบุญโลงศพ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการบริจาคเงินให้กับโลงศพของมูลนิธิร่วมกตัญญู

เดินตรงเข้าไปที่สำนักงานมูลนิธิที่อยู่ใน เขตวัด จะมีโต๊ะให้เราเขียนชื่อนามสกุลและเงินที่จะบริจาค จะมีกระดาษสีชมพูวางไว้ เราก็เขียนชื่อลงไป

การบริจาคโลงศพ เราจะทำบุญเท่าไหร่ก็ได้ตามแต่กำลังศรัทธา แล้วเราก็เอาใบสีชมพูที่เราเขียนชื่อทากาวด้านหลังกระดาษสีชมพูนั้น แล้วนำมาแปะที่โลง

วัดหัวลำโพง แม้จะไม่ได้เป็นพระอารามหลวงขนาดใหญ่ แต่วัดแห่งนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาว ต่างชาติได้เป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนไต้หวัน ล้วนเข้าไปเที่ยวและถ่ายรูปวัดเก็บไว้เป็นที่ระลึกจำนวนมาก

ไหว้พระวัดหัวลำโพง

ท่ามกลางสังคมเมืองอันวุ่นวาย วัดหัวลำโพงยังคงเป็นศาสนสถานสำคัญให้เราชาวพุทธได้แวะเวียนเข้าไป

นอกจากความงดงามภายในบริเวณวัด ยังมีอนุสาวรีย์พระราชวิสุทธิโมลี (ขาว ปุสสนาโค) หรือกุฏิเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเสนาสนะอันทรงคุณค่าทั้งสิ้น

ถ้าหากใครมีเวลา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ก็ควรหาโอกาสมาเยือนที่วัดแห่งนี้


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน