‘สังฆราช’ทรงเปิดนิทรรศการ

งาน 100 ปีสุชีพ ปุญญานุภาพ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปทรงเป็นประธานในพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล นายสุชีพ ปุญญานุภาพ และทรงเปิดนิทรรศการประวัติและผลงานนายสุชีพ ปุญญานุภาพ

‘สังฆราช’ทรงเปิดนิทรรศการ

มีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้ารับเสด็จ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ อาคาร 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราชประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า “ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศและในระดับสากล ความรู้ความสามารถของท่าน ทั้งคดีธรรมและคดีโลก ตลอดจนจริยวัตรอันงดงาม เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อศิษย์ เป็นนักปราชญ์ที่สุภาพอ่อนโยน ยังเป็นที่จดจำ เป็นที่ประทับใจของผู้มีโอกาสได้รู้จักใกล้ชิด และได้รับความอนุเคราะห์จากท่านมิเสื่อมคลาย”

‘สังฆราช’ทรงเปิดนิทรรศการ

“อาตมภาพได้เล่าเรียนในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย จึงมีบุญได้เป็นศิษย์ของท่าน และยังคงระลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์สุชีพอยู่เสมอ การที่ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะมหามกุฏราชวิทยาลัย สถาบันซึ่งเป็นหนี้พระคุณของท่านโดยตรง ร่วมกัน จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีชาตกาล ด้วยการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน อันเป็นผลงานชิ้นเอก ย่อมเป็นที่น่าอนุโมทนายกย่องในความกตัญญูกตเวที”

‘ศาสนา’ แปลว่าคำสั่งสอน ‘พระพุทธศาสนา’ หมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม พระพุทธศาสนาที่แท้จริงจึงหมายถึง ‘พระธรรม’ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ แม้เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธศาสนาจักไม่มีวันสูญสิ้นพระศาสดา ตราบที่พระธรรมคำสั่งสอนยังสถิตสถาพรอยู่ และ ‘พระไตรปิฎก’ นี้เอง คือแหล่งรวบรวมพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ใส่ใจศึกษาพระไตรปิฎก ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง

‘สังฆราช’ทรงเปิดนิทรรศการ

ท่านอาจารย์สุชีพได้อุตสาหะย่อพระไตรปิฎกหลายสิบเล่มลงไว้เป็นเล่มเดียว เพื่อประชาชนจะได้เข้าถึงโดยง่าย และเป็นประตูไปสู่การค้นคว้า ศึกษา วิจัยเพิ่มเติมต่อไป นับเป็นงานอันทำได้ยากยิ่ง แต่ท่านก็ทำสำเร็จ เพราะความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธศาสนา

“อาตมภาพจึงขอย้ำเตือนทุกท่านว่า ขอจงมีความกตัญญูกตเวทีต่อบูรพาจารย์ ขอจงอย่าทอดทิ้งกิจธุระของท่าน และขอจงช่วยกันสืบสานปณิธานของท่านอาจารย์สุชีพ ในการช่วยให้มหาชนทั้งหลายได้เข้าถึงพระธรรม”

นายวีระกล่าวว่า หนังสือพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน เป็นผลงานสำคัญของอาจารย์สุชีพ และนับเป็นพระไตรปิฎกย่อฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของโลกด้วย โดยหนังสือพระไตรปิฎกดังกล่าว เป็นการย่อในลักษณะถอดความของพระไตรปิฎกบาลี 45 เล่ม ให้เป็นหนังสือภาษาไทยเพียงเล่มเดียว โดยประมวลไว้ซึ่งเนื้อความหรือสาระของพระไตรปิฎกทั้ง 45 เล่ม อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยถ้อยคำสำนวนที่คนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย

‘สังฆราช’ทรงเปิดนิทรรศการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานครั้งนี้มีความเห็นว่า ทุกฝ่ายควรจะได้เผยแผ่พระไตรปิฎก ฉบับนี้ให้แพร่หลายไปสู่ประชาชน เพื่อให้เป็นสมบัติของคนไทย ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องพระไตรปิฎกอย่างสะดวกและทั่วถึงตามที่อาจารย์สุชีพได้ตั้งใจไว้ เพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาและสันติสุขของชาติ

ทั้งนี้ นายสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและการศึกษาของไทยอย่างมาก เมื่อครั้งยังดำรงอยู่ในสมณเพศได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจนสำเร็จเปรียญธรรม 9 ประโยค และศึกษาภาษาและวิชาการต่างๆ อีกมาก ทำให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง และได้บูรณาการความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนา

นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่มีชื่อเสียงด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแนวใหม่ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้ริเริ่มการอธิบายพุทธธรรมแนวประยุกต์กับวิชาการสมัยใหม่ ทั้งในรูปแบบของการเทศนา การบรรยาย และนวนิยายอิงหลักธรรม

อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้มีการตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย คือ สภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ต่อมาเมื่อลาสิกขา ได้ใช้ความรอบรู้ทางพระพุทธศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศเป็นอเนกประการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน