เซียนโอ๊ต บางแพ รู้จริงเหรียญพระตะวันตก : คอลัมน์มองอย่างเซียน

เซียนโอ๊ต บางแพ – “อาทิตย์ นวลมีศรี” หรือ “โอ๊ต บางแพ” เจ้าของตลาดนัดพระเครื่องภาคตะวันตก (ตลาดกอบกุล) จ.ราชบุรี เซียนพระที่ศึกษาพระเครื่อง โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ควบคู่กับการสืบค้นวิธีการสร้างจากตัวเหรียญจนมีความชำนาญ

เซียนโอ๊ตเล่าให้ฟังว่า “ผมขายอาหารทะเลมาก่อน ส่วนสาเหตุที่ทำให้หันมาสนใจในพระเครื่องมาจากประสบการณ์ เนื่องจากเคยโดนรถตู้ชนที่หน้าม.รามคำแหง แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอะไร ตอนนั้นคิดว่าอาจจะเป็นด้วยพระกริ่งที่แขวนอยู่เพียงองค์เดียว จึงเกิดความเชื่อ เริ่มชื่นชอบในพระเครื่อง”

“หลังจากนั้นจึงหันมาเริ่มศึกษาและเก็บสะสมพระเครื่องเรื่อยมา จนได้รู้ว่าพระเครื่องที่เก็บสะสมอยู่นั้นขึ้นราคาเพราะมีคนมาขอซื้อ ก็รู้สึกดีกับพระที่เราเก็บสะสมอยู่ ยิ่งด้วยความที่พระเครื่องเราแท้ เวลาเราไปไหนคนก็จะให้ความสนใจและขอซื้อ ก็หลงเสน่ห์พระเครื่องและสะสมพระเครื่องเรื่อยมา”

“ผมเอาเวลามาสนใจศึกษาพระเครื่องมากขึ้น ซื้อพระมาเยอะมาก บางอย่างไม่แท้ บางองค์พระแท้แต่ไม่มีราคาก็มี เราก็เลยต้องเริ่มฝึก เริ่มศึกษาให้มากขึ้น พอเริ่มดูพระเป็นก็ซื้อพระแท้ได้มากขึ้น จากที่ตอนแรกๆ ซื้อเก๊มากกว่าแท้ เวลาเราไปเจอกลุ่มพระแล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน เราสามารถคุยเรื่องพระได้มากกว่าคนอื่น เราก็ดูเป็นคนมีคุณค่าแล้วก็เป็นความภาคภูมิใจ”

จากนั้น “โอ๊ต บางแพ” ยกกิจการอาหารทะเลให้ครอบครัวดูแล ผันมาเป็นเซียนพระเต็มตัว และด้วยความที่ทำงานด้านพระเครื่องทำให้ผู้ใหญ่เล็งเห็นความสามารถจึงได้รับเลือกเป็นประธานชมรมพระเครื่องเพื่อนพ้องน้องพี่ จ.ราชบุรี

“ต่อมา เริ่มเดินสายในวงการพระเครื่องมาโดยตลอด มีโอกาสได้รู้จักกับแดง นาดูน, ยุทธ ภูเก็ต และ ไก่ อุดร ที่งานประกวดพระเครื่องที่โรงเรียนท่าม่วง จ.กาญจนบุรี พวกพี่ๆ ชักชวนเข้าสู่วงการพระเครื่องอยู่ในวงการมาจนทุกวันนี้”

เซียนโอ๊ต บางแพ เซียนโอ๊ต บางแพ เซียนโอ๊ต บางแพ

ส่วนพระเครื่องที่ถนัดนั้น โอ๊ต บางแพ เล่าว่า “ด้วยความที่เราเป็นคนที่ชื่นชอบที่จะศึกษาประวัติพระ เราไม่ได้เล่นแค่ซื้อขาย แต่เราชอบศึกษา ก็อ่านเจอว่าพระรูปนี้เก่งด้านนี้ หรือรูปนั้นก็เก่งด้านนั้น ซึ่งพระยุคเก่าท่านต้องเดินธุดงค์ มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสจึงทำให้อยากทราบถึงพระรุ่นเก่าๆ จนชื่นชอบ จากนั้นก็หันมาศึกษาเหรียญเก่า และด้วยความที่เหรียญเก่า เหรียญโบราณ ยุคแรกๆ นี้สร้างขึ้นที่จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด ผมก็เลยหาประวัติเกี่ยวกับพระเครื่องจังหวัดราชบุรี และลุ่มน้ำแม่กลองทั้งหมด”

หลักการศึกษาพระเครื่อง เซียนโอ๊ตกล่าวว่า “ศึกษาพระแบบเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะผมเรียนม.รามคำแหง สาขาวิทยาศาสตร์ จึงศึกษาพระเครื่องจากกรรมวิธีการสร้างแบบเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เรา ค่อนข้างจะเรียนรู้พระเครื่องได้เร็ว และก็หันมาศึกษาจากวิธีการสร้างเพิ่มเติม อย่างตำหนิพระที่เขาใช้ดูนี้เราไม่ได้เพียงแค่จำตำหนิอย่างเดียว แต่เราอยากรู้ว่ามันเกิดจากอะไรถึงได้เกิดตำหนินี้ ก็เลยเริ่มศึกษาจากวิธีการสร้าง บังเอิญที่คุณตาของผมเป็นเซียนพระรุ่นเก่า คุณตาก็เลยสอนผมว่าถ้าอยากรู้ธรรมชาติ พระเก่าพระใหม่แตกต่างกันอย่างไรให้เอา เหรียญพ.ศ.เดียวกันมาวางเรียงกัน สมมติว่าพระเหรียญ พ.ศ.2480 เราก็เอามาวางเรียงกัน 10 เหรียญ แล้วก็ส่องเหรียญเหล่านี้กลับไปกลับมา จะทำให้เรารู้ว่าธรรมชาติเก่ากับใหม่มันแยกกันได้อย่างไร”

เซียนโอ๊ตฝากถึงเซียนรุ่นใหม่ที่อยากจะเข้ามาในวงการพระเครื่องว่า “อยากให้ศึกษาจากตัววัตถุมงคลว่าตัววัตถุมงคลนั้นบ่งบอกอะไร สามารถสืบค้นอะไรได้บ้าง และศึกษาเพิ่มเติมจากตัวหลวงพ่อจะทำให้เราศรัทธาและดูพระเป็น ซึ่งเมื่อมีความศรัทธาเราจะมีความสุขจากการสะสมพระเครื่อง แต่ถ้าเราเน้นเรื่องการซื้อ-ขายว่าอันไหนถูก ถ้าอันไหนไม่มีคุณค่าจะทำให้เรามองข้ามเรื่องพุทธคุณไป พระบางรูปท่านเก่งแต่วัตถุมงคล ท่านสร้างน้อยมากก็อาจจะไม่มีให้เห็นก็มี”

สำหรับผู้ที่สนใจหรือต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “โอ๊ต บางแพ” ยินดีให้คำแนะนำ

พูดคุยหารือได้ที่ เพจพระเครื่องสันขวาน หรือที่ตลาดพระเครื่องภาคตะวันตก หรือตลาดกอบกุล จ.ราชบุรี ยินดีให้คำปรึกษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน