หลวงพ่อบอน ปูชิโต วัดสามราษฎร์บำรุง

อริยะโลกที่ 6

หลวงพ่อบอน ปูชิโต วัดสามราษฎร์บำรุง : อริยะโลกที่ 6 – “หลวงพ่อบอน ปูชิโต” หรือ พระครู ประสาธน์ยติคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามราษฎร์บำรุง ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และอดีตเจ้าคณะตำบลทมอ-โคกยาง พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองสุรินทร์ ที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธา

หลวงพ่อบอน ปูชิโต

หลวงพ่อบอน ปูชิโต

มีนามเดิมว่า บอน มีมั่น เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2460 ถิ่นกำเนิดบ้านสก็วน ต.เฉนียง

สำเร็จการศึกษาชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดศิลาราม และพออายุครบ 19 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดปราสาทศิลาราม มี เจ้าอธิการตัน พรหมปัญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า ปูชิโต

ไปอยู่จำพรรษาที่วัดโคกบัวราย เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม

พ.ศ.2490 ราษฎร 3 หมู่บ้าน ได้ร่วมพัฒนาสร้างวัดสามราษฎร์บำรุง และได้นิมนต์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เชื่อว่าจะช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง และช่วยอบรมสั่งสอนญาติโยม

หลวงพ่อบอนเคยปรารภว่า “กว่าจะตัดสินใจเข้ามาวัดสามราษฎร์บำรุง ต้องใช้เวลาไตร่ตรองนานกว่า 7 วัน จนได้คิดว่าในละแวกนั้นไม่มีวัดให้ประชาชนร่วมประกอบกิจทางศาสนา จึงตกลงยินยอมรับนิมนต์”

พ.ศ. 2495 ออกแสวงบุญได้พบพระอาจารย์ใหญ่ พระอุปัชฌาย์มหานาค หลวงพ่อจุก พระเกจิชื่อดัง จอมอาคมขมังเวท ที่บริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ณ บริเวณช่องปราสาทตาเมือน จึงขอติดตามไปปรนนิบัติรับใช้ที่ประเทศกัมพูชาเป็นเวลา 1 เดือน ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคม เสกน้ำมนต์ เขียนตะกรุดโทน เป็นต้น

หลวงพ่อบอนเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวอำเภอปราสาทเป็น อย่างยิ่ง เมื่อชาวบ้านเกิดปัญหานานาประการ อาทิ ปัญหาข้าราชการ ปัญหาครอบครัว ท่านจะใช้หลักพระธรรมอบรมสั่งสอน เตือนใจให้เกิดสติปัญญานำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว

มีโครงการต่างๆ มากมาย โดยได้รับการสนับสนุนจากพุทธบริษัทและคณะศิษยานุศิษย์ อาทิ การสร้างวัดสาขาของวัดสามราษฎร์บำรุง รวม 9 แห่ง ได้แก่ วัดปทุมสามราษฎร์บำรุง, วัดศิริราษฎร์บำรุง, วัดลำดวน, วัดโคกสะอาด, วัดหนองซุง, วัดโคกโบสถ์, วัดบ้านสีโค และวัดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 2 แห่ง ได้แก่ วัดปะคำ วัดโคกพะยุง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้สร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนบ้านโคกบุ และโรงเรียนบ้านลำดวน พร้อมสนับสนุนให้ทุนการศึกษา และได้เชิญชวนราษฎรร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาเส้นทางคมนาคม ด้วยการสร้างสะพานไม้เชื่อมหมู่บ้าน พัฒนาแหล่งน้ำไว้ใช้อุปโภค-บริโภค ยามเกิดวิกฤตภัยแล้ง

เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วย ถูกอสรพิษกัด ไข้ป่า หรือกินอาหารผิดสำแดง หลวงพ่อบอนจะใช้ประสบการณ์จากการเดินป่า ใช้ยาสมุนไพร ช่วยบำบัดรักษาให้แก่ผู้ป่วย จนหายเจ็บหายไข้ได้ผลดีนักแล

พ.ศ. 2502 หลวงพ่อบอนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลทมอ พ.ศ. 2505 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นตรี ในราชทินนาม พระครูประสาธน์ยติคุณ

หลวงพ่อบอนไม่เคยอนุญาตให้มีการจัดสร้างวัตถุมงคล แต่ด้วยท่านมีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนตะกรุดโทน ในบางโอกาสท่านจะเขียนให้เฉพาะผู้ที่มีความต้องการเท่านั้น

เมื่อท่านจารลงอักขระ ท่านจะให้พระภิกษุนั่งม้วนแล้วถัก ส่วนใหญ่ถักด้วยเส้นด้ายขาว (สายสิญจน์) หลวงพ่อบอนได้แนะนำศิษย์ทุกๆ คนที่ได้รับตะกรุดโทนด้วยว่า “เคยใช้มีดหรือไม่ มีดต้องหมั่นลับ สำหรับตะกรุดเช่นเดียวกัน หยิบตะกรุดโทนขึ้นมาตั้งนะโม 3 จบ ให้เป่าก้นตะกรุดโทน พลิกเป่าซ้ายและพลิกเป่าขวา เพื่อคงพระเวทอาคมในแผ่นตะกรุดโทน”

ในช่วงเดือน ก.ค. 2518 เริ่มอาพาธด้วยโรคอัมพฤกษ์ ไม่สามารถขยับแขน-ขาได้ คณะศิษยานุศิษย์ได้นำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช แต่อาการไม่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2522 จึงละสังขารด้วยอาการสงบ สิริอายุ 63 ปี พรรษา 43

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน