พระกริ่งเชียงตุง

รอบด้านวงการพระ

โดย อริยะ เผดียงธรรม [email protected]

พระกริ่งเชียงตุง – “พอหลังจากภพมันก็เป็นชาติ คลอดออกมาเป็นตัวกูที่สมบูรณ์ ที่จะคว้าอะไรมาหาตน เป็นตัวตนเป็นของตน เป็นชาติแห่งตัวกูขึ้นมาในความรู้สึก” สารธรรมมงคล ท่านพุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

…● สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นพระคณาจารย์ที่โด่งดังในการสร้าง “พระกริ่ง” ของเมืองไทย

พระกริ่งเชียงตุง

พระกริ่งเชียงตุง ปี 2486

…● สำหรับ “พระกริ่งเชียงตุง” ปี 2486 นับเป็นพระกริ่งรุ่นสุดท้าย ในสมเด็จพระสังฆราช (แพ) และยังเป็นการนำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่เดิม มาใช้ในการจัดสร้างอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย การสร้างพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) นั้น ส่วนใหญ่พระองค์จะใช้พิมพ์พระกริ่งใหญ่ ของ พระยาศุภกรบรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) ผู้อำนวยการกองพระคลังข้างที่ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นอดีตช่างทองหลวงฝีมือดี และรับอาสาทำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่ถวาย โดยการใช้ตะกั่วตีหุ้มองค์พระกริ่งใหญ่ต้นแบบ ทำให้ได้ขนาดเท่ากับต้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

…● เมื่อปีพ.ศ.2486 คุณหญิงศุภกรบรรณสาร ภรรยาพระยาศุภกรบรรณสาร ได้นำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ตะกั่ว ถวายสมเด็จพระสังฆราช (แพ) และในปีดังกล่าว ทรงโปรดให้หล่อพระกริ่งใหญ่โดยใช้แม่พิมพ์ตะกั่วเดิมนั้น มีจำนวนสร้าง 108 องค์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้มอบแก่เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาที่จะเดินทางไปเชียงตุง และศิษย์ผู้ใกล้ชิดประมาณ 30 องค์ วันที่ 26 พ.ย.2487 เจ้าประคุณสมเด็จฯ สิ้นพระชนม์ พระกริ่งเชียงตุง จึงนับเป็นพระกริ่งรุ่นสุดท้ายในองค์สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว)

พระกริ่งเชียงตุง

พระหลวงพ่อพรหมซุ้มระฆัง

…● ในปี พ.ศ.2555 วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ บูรณะหลังคาอุโบสถ เปลี่ยนกระเบื้องใหม่ พระครูนิวิฐปัญญากร เจ้าอาวาสวัดช่องแครูปปัจจุบัน นำเอากระเบื้องหลังคาโบสถ์มาจัดสร้าง “พระหลวงพ่อพรหมซุ้มระฆัง” โดยมีพระอาจารย์ชนินทร์ สำนักปฏิบัติธรรมรัศมีพรหมโพธิโก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ (ศิษย์คนสุดท้ายของหลวงพ่อพรหม) ช่วยออกแบบพิมพ์พระ ลงอักขระขอม เลขยันต์ และเป็นเจ้าพิธี

…● ลักษณะพระหลวงพ่อพรหมซุ้มระฆัง ปี 2555 เป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยม เนื้อกระเบื้องหลังคาโบสถ์ ด้านหน้ามีขอบรอบ ตรงกลางมีรูปนูนหลวงพ่อพรหมนั่งสมาธิเต็มองค์ มีระฆังครอบ ที่ขอบระฆังด้านล่างมีอักษรไทย “หลวงพ่อพรหม ถาวโร” ส่วนด้านหลังไม่มีขอบ มีอักขระขอมตัวลึก ลักษณะเป็นยันต์สิบ ด้านล่างมีอักษรไทย “ต.พรหมนิมิต อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์” ประกอบพิธีพุทธาภิเษก โดยมีพระเกจิดังร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต

…● “พระครูโชติวัตรวิมล” หรือ “หลวงปู่แฮม ธัมมโชโต” วัดศรีวา บริบูรณ์พิสัย (วัดบ้านจารพัต) ต.จารพัต อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ที่ได้รับความศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสุรินทร์และใกล้เคียง ท่านจัดสร้างวัตถุมงคลไว้หลายประเภท ซึ่งปัจจุบันล้วนได้รับความนิยมในแวดวงนักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์ แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ “เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่แฮม”

พระกริ่งเชียงตุง

เหรียญหลวงปู่แฮม

…● คณะศิษยานุศิษย์สร้างขึ้น เมื่อปี 2530 จำนวน 5,000 เหรียญ เพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์ และทหารตำรวจตามแนวชายแดน ลักษณะเป็นเหรียญพิมพ์เสมา เนื้ออัลปาก้า ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงปู่แฮมนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พระครูโชติวัตรวิมล (แฮม)”

…● ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ใบพัด 3 แฉก ด้านล่างใต้ยันต์ เขียนคำว่า “วัดศรีวาบริบูรณ์พิสัย ต.จารพัต อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์” วัตถุมงคลของหลวงปู่แฮมได้รับความนิยมจากศิษย์ยานุศิษย์ ด้วยมีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน ราคาเช่าในปัจจุบันค่อนข้างสูงมาก ทุกวันนี้นับเป็นเหรียญหายาก

พระกริ่งเชียงตุง

เหรียญหลวงปู่ผา พ.ศ.2510

…● หายาก!!! เหรียญหลวงปู่ผา พ.ศ.2510 พระเกจิดังวัดโนนทราย อ.เกษตร สมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงปู่ผาครึ่งองค์หันหน้าด้านขวา ใต้รูปเหมือนจารึกข้อความ ว่า “หลวงปู่ผา”

ด้านหลังเหรียญเขียนข้อความเป็น 2 ชั้น ชั้นแรก เขียนว่า “2510” ชั้นสอง เขียนว่า “วัดโนนทราย” วัตถุมงคลหลวงปู่ผาปัจจุบันเริ่มหายาก สนนราคาเช่าหาบูชาเล่นหานับวันจะสูงขึ้น เป็นเหรียญยอดนิยมเหรียญหนึ่งของวงการพระเครื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน