คอลัมน์ อริยะโลกที่6

“หลวงพ่อผินะ ปิยธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดสนมลาว หมู่ที่ 2 ต.โคกแย้ อ.หนองแค จ.สระบุรี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในภาคกลาง

มีนามเดิมว่า ทวาย หาญสาริกิจ เกิดเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2456 ที่บ้านหัวลำโพง อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี

วัยเด็กมีโรคประจำตัวรักษาไม่หาย หลังการร้องไห้ทุกครั้ง จะต้องมีอาการชักจนหน้าเขียว มารดาพาไปหาหมอรักษาโรคแต่อาการไม่ดีขึ้น ครั้นพอหมดหนทาง จึงได้พาไปหาหลวงพ่อสิน เจ้าอาวาสวัดหนองเตา ต.โนนขี้เหล็ก อ.เมือง จ.อุทัยธานี

หลวงพ่อสินระบุว่า ชื่อทวาย เป็นกาลกิณี ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นผินะ มาจากคำว่าผิน แปลว่า หันหน้า, หันหลัง, เปลี่ยนทิศทาง, ไม่แยแส, หรือเลิกคบกัน นับแต่นั้นอาการดังกล่าวได้ทุเลาลง

พ.ศ.2481 บิดาได้ล้มป่วยและเสียชีวิต จึงได้บรรพชาเพื่ออุทิศส่วนกุศล

พออายุครบบวชจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดหนองเต่า โดยมีพระครูอุดมคุณาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอทัพทัน เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาอำนวย เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ต่อมาขออนุญาตเจ้าอาวาสออกไปจำพรรษาที่วัดเกาะเทโพ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ศึกษาพระธรรมจากหลวงตาคำ ให้รู้ถึงสังขารร่างกายมนุษย์และสัตว์ ล้วนมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ร่างกายเน่าเปื่อย

พ.ศ.2481 สอบได้นักธรรมชั้นตรี และออกธุดงค์ ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐาน ที่วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ก่อนจะเดินธุดงค์ไปในหลายจังหวัด ในภาคเหนือ ภาคใต้ ประเทศพม่า ลาว เขมร อินเดีย

พ.ศ.2485 พระผินะศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และพระอาจารย์อีกหลายรูปที่ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์

พ.ศ.2527 หลวงพ่อผินะ จาริกธุดงค์ผ่านมาถึงวัดโบราณ บ้านสนมลาวเขาโบสถ์ ต.โคกแย้ อ.หนองแค จ.สระบุรี เป็นวัดร้าง แต่มีสถานที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ ปัจจุบันกลายเป็นวัดสนมลาว และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ

หลวงพ่อผินะ เคยปรารภกับคณะศิษยานุศิษย์ว่า สถานที่แห่งนี้มีความเหมาะสมใช้เป็นที่ละสังขาร และ มอบหมายให้จัดสร้างเตรียมไว้ล่วงหน้า เป็นอ่างน้ำด้านล่าง ที่ใส่สังขารอยู่ด้านบน อันเป็นปริศนาธรรม หมายถึงการอยู่เหนือพ้นน้ำ ดังเช่น บัวสี่เหล่าที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวเทศนาไว้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เหนือการตาย เวียนว่ายตายเกิด

สำหรับสุสานที่เก็บสังขารหลวงพ่อผินะ คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดสร้างเจดีย์ ลักษณะคล้ายองค์พระปฐมเจดีย์ครอบไว้สูงประมาณ 10 เมตร ด้านหน้ามีรูปหลวงพ่อผินะ ใต้ฐานเจดีย์เป็นน้ำ มีปลาแหวกว่าย ทุกวันจะมีสาธุชนที่ศรัทธาเลื่อมใสเดินทางมากราบไหว้สังขารหลวงพ่อผินะที่บรรจุในโลงแก้วอยู่เป็นประจำ

เริ่มอาพาธและถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2545 สิริอายุ 89 ปี

ก่อนหน้านี้ หลวงพ่อผินะทำหนังสือเขียนสั่งไว้ มีใจความว่า “เมื่อฉันละสังขาร ขอให้ปฏิบัติตามนี้ คือ ห้ามฉีดยาศพโดยเด็ดขาด ให้เก็บศพไว้ในสภาพนั่งขัดสมาธิ ให้บรรจุศพไว้ในที่เตรียมไว้ ณ สุสานผินะ ไม่ต้องมีการสวดศพ ไม่ต้องบอกคนมาก ห้ามเผาศพโดยเด็ดขาด” สั่ง ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2545 ลงชื่อ พระผินะ ปิยธโร พระอาจารย์ใหญ่ประธานคณะปฏิบัติธรรม วัดสนมลาววิหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน