หลวงปู่ราม ปรักกโม วัดวังเงิน จ.สุโขทัย

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่ราม – จังหวัดสุโขทัยมีพระเกจิชื่อดังหลายรูป อาทิ หลวงพ่อปี้ ทินโน วัดคูหาสุวรรณ, หลวงพ่อห้อม อมโร วัดคูหาสุวรรณ, หลวงปู่โถม กัลยาโณ วัดธรรมปัญญาราม ฯลฯ

แต่พระเกจิอาจารย์ที่กล่าวนามไปแล้วนั้นมรณภาพละสังขารไปแล้วทั้งสิ้น

ปัจจุบันยังมีพระเถราจารย์ที่มากไปด้วยความรู้ ความสามารถและสืบทอดสรรพวิชาไว้ได้อย่างเข้มขลังคือ “หลวงปู่ราม ปรักกโม” พระเกจิที่มีชื่อเสียงปฏิปทาเป็นที่เลื่อมใสและศรัทธาของชาวจังหวัดสุโขทัยและใกล้เคียง

ได้รับสมญานาม “เทพเจ้าแห่งโชคลาภ”

เป็นศิษย์สืบสายพุทธาคมของหลวงปู่โถม วัดธรรมปัญญาราม, หลวงปู่ทุเรียน วรธัมโม วัดศรีคีรีสุวรรณาราม (วัดท่าดินแดง) อ.คีรีมาศ และหลวงพ่อจ้อย ฐิตปุญโญ แห่งวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี

ปัจจุบันสิริอายุ 74 ปี พรรษา 34 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวังเงิน ต.บ้านน้ำพุ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย

เกิดในสกุลทองสุข เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2488 (แรม 9 ค่ำ เดือน 4) ปีระกา ที่ อ.ศรี สำโรง จ.สุโขทัย เป็นบุตรของนายเฉื่อยและนางตะล่อม ทองสุข มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 4 หญิง 4

ช่วงวัยเยาว์ เรียนรู้ไว เลี้ยงง่าย เป็นที่รักของเพื่อนและครูบาอาจารย์ เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บรรพชาที่วัดไทยชุมพล อ.เมือง จ.สุโขทัย

จากนั้นเข้าพิธีอุปสมบทเล่าเรียนพระธรรมพอสมควร จึงลาสิกขาออกมาและได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาเป็นศิลปิน มีครูบาอาจารย์บรมครูฤๅษีในด้านการแสดงตั้งชื่อ ให้ว่า “รามเมศ ทองสุขใส” ตระเวนแสดงไปหลายจังหวัด ไกลสุดถึงจ.สุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักชื่นชอบ

ในปี พ.ศ.2528 ช่วงที่เปิดการแสดงอยู่ทางภาคใต้ ทราบข่าวว่าพี่สะใภ้ไม่สบาย อาการค่อนข้างหนัก จึงตั้งอธิษฐานขอเข้าร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งที่วัดศรีชุม (หลวงพ่อใหญ่อจนะ) โดยมีพระครูสถิตย์ญาณคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูแห้ว เขมโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอำนวย เตชวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ปรักกโม” หมายถึง ผู้มีความพากเพียร

เมื่อบวชแล้วปรากฏว่าอาการของพี่สะใภ้ดีขึ้นตามลำดับ

หลังบวชได้ศึกษาพระธรรม บทสวดต่างๆ จนมีความแตกฉาน แล้วออกเดินธุดงค์ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่โถม วัดธรรมปัญญาราม และหลวงปู่ทุเรียน วัดท่าดินแดง แล้วธุดงค์ไปฝึกปฏิบัติจิตที่อุทยานน้ำตกสายรุ้ง ซึ่งบริเวณนี้เป็นแหล่งซ่องสุมของเหล่าโจรที่ทางการต้องการตัว โดยท่านใช้ธรรมะและความเมตตาเอาชนะพวกโจร จนกระทั่งหันมาให้ความเคารพศรัทธาในตัวท่าน

จากนั้นธุดงค์ต่อไปทางอุดรธานี, หนองคาย ไล่ลงไปจนถึงภาคใต้ ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อจ้อย วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ก่อนกลับมาเจริญภาวนาต่อที่ถ้ำน้ำตกสายรุ้ง

ครั้งหนึ่งไปพบเห็นวัดร้าง (วัดวังเงิน) ตั้งอยู่บนภูเขา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าเขาน้อย จึงตั้งใจบูรณปฏิสังขรณ์จนเจริญรุ่งเรือง โดยได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากชาวบ้าน

ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังเงิน สืบมาจนถึงปัจจุบัน

เปี่ยมด้วยความเมตตา โดยมุ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาเข้านิโรธสมาบัติอยู่เป็นประจำ อีกทั้งช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านผู้เดือดร้อนและบูรณะวัดวังเงิน

นำวิชาต่างๆ ที่ได้ร่ำเรียน สงเคราะห์ญาติโยมที่มากราบหรือ มาพึ่งบารมีของท่าน ช่วยขจัด ปัดเป่าให้บรรเทาเบาบางลงไป ด้วยความเป็นพระที่เมตตา เข้าถึงง่าย จึงเป็นที่เคารพและศรัทธาของคนในพื้นที่และใกล้เคียงมากพอสมควร

งานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประกอบพิธีวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนร่วมกับข้าราชการ พุทธศาสนิกชน จัดทำบุญในวันสำคัญต่างๆ

ท่านมีปฏิปทาที่มั่นคง เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีสัจจะบารมีแน่วแน่มั่นคง ปฏิบัติเกื้อกูลต่อพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการอย่างสม่ำเสมอกัน

ทุกวันนี้ยังคงมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน