คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ ณ กรุงเทพ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

มีพระนามเดิมว่า ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ ณ กรุงเทพ ทรงเป็นโอรสของ หม่อมเจ้าถนอมกับหม่อมเอม นพวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2415 ตรงกับวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก จุลศักราช 1234 ทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 4) กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระองค์เจ้านพวงศ์ วรวงศ์เอกอรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส และทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์มีพระนิสัยโน้มเอียงในทางพระศาสนา กล่าวคือ ได้ตามเสด็จกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ไปวัดอยู่เสมอ จึงทำให้ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร วัดบวรนิเวศวิหาร โดยพระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มิถุยายน 2435 ทรงผนวช ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระนามฉายาว่า สุจิตฺโต

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ และสถาปนาสมณศักดิ์เป็นลำดับ

พ.ศ.2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีพระราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

พ.ศ.2488 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้เต็มพระเกียรติยศตามราชประเพณี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2493

พ.ศ.2499 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ และฐานันดรศักดิ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

พระองค์เป็นพระราชอุปัชฌาจารย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออกผนวชในบวรพระพุทธศาสนา เป็นเวลา 15 วัน

จากบันทึกในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ระบุว่า …

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชประสงค์จะได้ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาเป็นเวลานาน และเมื่อได้ทรงคุ้นเคยกับหลักการและการปฏิบัติของพุทธศาสนิก ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่ทรงพระศรัทธายิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อต้นศก 2499 สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่ทรงนิยมนับถือด้วยวิสาสะอันสนิท และทรงถือว่ามีคุณูปการส่วนพระองค์มามากได้ประชวรลง ต้องเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พระอาการเป็นที่วิตกทั่วไปจนแทบไม่มีหวัง แต่ได้หายประชวรมาได้อย่างน่าประหลาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมฟังพระอาการหลายครั้ง และได้ทรงพระราชดำริว่า ถ้าได้ทรงผนวชด้วยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระอุปัชฌายะแล้ว จะเป็นที่สมพระราชประสงค์ ในอันที่จะได้ทรงแสดงพระราชคารวะและศรัทธา ในพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างดี จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงผนวช”

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงวันทรงลาผนวช เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 รวม 15 วัน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ.2525 ในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ได้มีการจัดสร้างเหรียญสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพื่อหาเงินสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยด้านหลังเหรียญมีพระปรมาภิไธย ภปร. มีพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยจำนวนมากร่วมปลุกเสกในพระอุโบสถวัดบวร

พระเทพวิสุทธิกวี (ถาวร อธิวโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่า เหรียญสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และน่าสะสม ปัจจุบันยังมีให้บูชาที่หน้าพระพระอุโบสถวัดบวรวิหาร

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร โทร.09-9354-1456

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน