คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

ในสัปดาห์ก่อน เขียนเรื่องราวประติมากรรมองค์ “พระพิฆเนศวร” นั้น ด้วยความเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญ

ที่จะกล่าวถึงนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ เทวชายาแห่งองค์พระพิฆเนศวร ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนตั้งแต่ปลายยุคพระเวทต่อยุคมหากาพย์ในปุราณะฉบับต่างๆ กล่าวพ้องกันว่า พระองค์ทรงมีพระชายาถึง 2 พระองค์ ได้แก่ พระนางสิทธิ และ พระนางพุทธิ ผู้เป็นธิดาของ พระประชาบดีวิศวรูป

เรื่องของการอภิเษกปรากฏในการแข่งขันระหว่างองค์พระพิฆเนศวร กับ พระสกันทกุมาร หรือ พระขันธกุมาร เมื่อพระอิศวรจัดให้มีการเลือกคู่และตั้งเงื่อนไขว่าหากผู้ใดเดินทางได้รอบจักรวาลครบ 3 รอบก่อนก็จะจัดการอภิเษกให้

ปรากฏว่าองค์พระสกันทกุมารออกวิ่งด้วยความรวดเร็วล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระพิฆเนศวรได้เดินวนรอบองค์พระอิศวรและพระแม่อุมา 3 รอบ แล้วตรัสสรรเสริญว่า “พระราชบิดาคือแกนกลางของจักรวาล การเดินวนรอบพระองค์ถือว่าเดินรอบจักรวาลแล้ว” พระอิศวรจึงตัดสินให้พระพิฆเนศวรชนะโดยได้อภิเษกกับพระนางสิทธิและพระนางพุทธิ มีโอรสด้วยกัน 2 องค์ ชื่อ พระ ลาภะ อันเกิดจากพระนางพุทธิ และพระเกษม อันเกิดแต่นางสิทธิ อันเป็นนามมงคล คือให้โชคลาภและความสุขเกษม ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้ผู้คนสรรเสริญในความชาญฉลาดและการเคารพพระบิดาของ พระพิฆเนศวรด้วย

เรื่องราวของพระพิฆเนศวรที่สืบทอดมาแต่โบราณค่อนข้างจะผูกพันเป็นเรื่องเดียวกันกับ พระสกันทกุมาร หรือ พระขันธกุมาร จนบางแห่งเข้าใจว่าเป็นเทพองค์เดียวกัน ในสยามประเทศก็เคยเอ่ยพระนามพระขันธกุมารเป็นองค์เดียวกันกับพระพิฆเนศ และเอ่ยพระนามของพระขันธกุมารในวรรณคดีโบราณ เช่น ในโองการแช่งน้ำ โคลงห้า ออกนาม “ขุนกล้าขี่นกยูง” ซึ่งหมายถึง พระสกันทกุมาร ที่แปลว่า ผู้กล้า ผู้โลดเต้น หรือ ผู้ทำลาย เป็นต้น

พระขันธกุมารได้รับความนับถือว่าเป็นเทพแห่งสงคราม มีเทวลักษณะงดงาม หกพักตร์ สิบสองกร งามสง่าประดุจสุริยเทพ พระฉวีหรือผิวกายผุดผ่องดั่งพระจันทร์วันเพ็ญ บางครั้งปรากฏในลักษณะต่างๆ เช่น มีพระพักตร์เดียว หรือ มีหกเศียร สิบสองกร สิบสองขา ฯลฯ ผิวกายสีทอง มีเทพศาสตราวุธเป็นหอก ชื่อ “ศากยตาวุธ” ซึ่งเป็นรัศมีของพระอาทิตย์ที่พระวิษณุกรรมถวาย บ้างทรงคทาที่พระอัคนีถวาย มีมยุราหรือนกยูงเป็นเทพพาหนะ และทรงถือธวัชรูปไก่

ในปุราณะฉบับต่างๆ กล่าวถึงกำเนิดของพระองค์ว่า องค์พระอิศวรได้หลั่งน้ำเทวกำหนัดอันร้อนแรงราวไฟประลัยกัลป์ออกมาหยดหนึ่ง เนื่องจากเหล่าทวยเทพได้รับความเดือดร้อนจากตาระกาสูร ผู้ได้รับพรจากพระพรหมให้ไม่มีผู้ทำลายได้ นอกจากโอรสของพระอิศวร

น้ำเทวกำหนัดขององค์อิศวรเจ้ามีความร้อนแรงจนพระอัคนีต้องดูดกลืนรองรับไว้ชั้นหนึ่งก่อน และคายลงยังแม่น้ำ ซึ่งจะเกิดเป็นโอรสได้ต่อเมื่อซึมซาบเข้าไปในครรภ์โภทรของหญิงที่ลงมาอาบน้ำในแม่น้ำนี้ ปรากฏว่ามีภรรยาของฤๅษี 6 ตน ได้ลงสรงน้ำและรับเอาเชื้อเทวกำหนัดเข้าไปทำให้เกิดความร้อนทุรนทุราย จึงตัดสินใจเดินทางขึ้นไปยังเทือกเขาหิมาลัยเพื่อให้ความร้อนคลายลง และคายตัวอ่อนลงยังแม่น้ำคงคา

พระแม่คงคานั้นทรงเป็นหนึ่งในพระมเหสีขององค์อิศวร เห็นตัวอ่อนก็ทราบว่าเป็นของพระสวามีจึงชุบด้วยน้ำคงคาและพาขึ้นฝั่งก่อเกิดเป็นชีวิตของทารก 6 ชีวิตขึ้น ต่อมานางกฤติกาพบทารกน้อยจึงนำไปเลี้ยง ส่วนพระแม่อุมาหรือพระนางปวารวตีนั้น เกิดน้ำกษีรธาราหรือน้ำนมไหลไม่หยุดก็ให้ฉุกคิดว่าทารกของพระนางและพระอิศวรคงจะถือกำเนิดขึ้นแล้ว จึงทำการติดตามและรับทารกกลับมาเลี้ยงดู ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระนางซึ่งเกิดความยินดีเมื่อแรกพบพระโอรสน้อยทั้งหกได้รวบทารกเข้าในวงแขนในคราวเดียว ทำให้ทารกทั้งหกกลายเป็นร่างเดียวแต่มีหกพักตร์ตั้งแต่นั้นมา และสามารถปราบตาระกาสูรได้สำเร็จดังคำทำนาย

ตามเทวปกรณัมปรากฏว่า พระขันธกุมารทรงมีพระชายา 2 พระองค์เช่นกัน ได้แก่ พระนางเทวเสนา หรือ พระนางเกามารี และพระนางวัลลี ซึ่งพระนางวัลลีนี้เป็นเจ้าหญิงของชาวลังกา ชนพื้นเมืองจึงทำรูปเคารพบูชาพระขันธกุมารและพระนางวัลลีในแถบอินเดียใต้และลังกา มีพิธีสักการะพระขันธกุมารในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 (จิตรมาส) รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “พิธีโลหะอภินิหาร”

ด้วยพระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งการรบและการสงครามครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน