คอลัมน์ อริยะโลกที่6

เจริญ อาจประดิษฐ์

“หลวงปู่เขียว ธัมมสโร” เป็นพระเถระนักปฏิบัติที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และยังเป็นพระนักพัฒนา เป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนในจ.ประจวบ คีรีขันธ์ ข้ามไปถึงประเทศพม่า

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอ่างทอง ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

ตามประวัติเล่าขานสืบต่อกันมา วัดอ่างทองแห่งนี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2474 มีชื่อว่า วัดอ่างทอง

ต่อมา เกิดไฟไหม้กุฏิ ทำให้เอกสารต่างๆ ประวัติเรื่องราว รวมไปถึงรูปถ่ายของหลวงปู่เขียว ถูกไฟไหม้สูญหาย ไม่สามารถสืบค้นหาได้ เหลือแต่เพียงรูปปั้นหล่อขนาดเท่าองค์จริงเป็นที่เคารพสักการะของสาธุชน

เดิมเป็นคนบ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2435 ปีมะโรง

เมื่อปี พ.ศ.2457 อุปสมบทที่วัดคงคาราม ปากคลองบ้านกรูด และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนั้น ต่อมาได้ ท่านออกธุดงค์ไปอยู่วัดถ้ำคีรีวงศ์และได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอ่างทอง

มักจะเดินธุดงค์ข้ามไปประเทศพม่าอยู่เป็นประจำ บางครั้งก็จะจำพรรษาในฝั่งพม่า เนื่องจากมีญาติอยู่ทั้งประเทศพม่าและประเทศไทย

การเดินทางต้องเดินทางด้วยเท้าผ่านภูเขา ป่าทึบ แม่น้ำ ลำธาร เทือกเขาตะนาวศรี แต่ไม่เคยได้รับอันตรายจากสัตว์ร้ายที่มีอยู่ชุกชุมเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งทุกคนยังสงสัยว่า ในขณะท่านเดินธุดงค์ในป่า การบินฑบาตอาหารจะทำอย่างไร

ตลอดชีวิตสร้างแต่ความดี ช่วยเหลือผู้คนทุกด้านที่ช่วยได้ พัฒนาวัดวาอารามตามความสามารถและกำลังชุมชน จนเป็นที่เลื่องลือในด้านการแพทย์แผนไทยหรือหมอชาวบ้าน โดยเฉพาะวิทยาคม

ได้มีการเล่าขานเรื่องราวปาฏิหาริย์ของท่าน ว่า หลวงปู่เขียวมีวาจาสิทธิ์ คงกระพันชาตรี ท่านเดินทางไปมาทั้ง 2 ประเทศนั้น เมื่อฝนตกท่านไม่เปียกฝน จึงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว

สำหรับการเดินทางครั้งสุดท้ายจากวัดอ่างทอง ไปเยี่ยมญาติที่ประเทศพม่า ด้วยความชราภาพของท่าน ทำให้ท่านเดินทางกลับไม่ไหว จึงได้มรณภาพอย่างสงบ ณ อำเภอตะนาวศรี จังหวัดมะริด เมื่อปี พ.ศ.2509 สิริรวมอายุ 74 ปี พรรษา 52

ชาวบ้านฝั่งพม่าจึงสร้างรูปหล่อหลวงปู่เขียว ไว้ในอำเภอตะนาวศรี 1 องค์

ส่วนฝั่งไทยได้ร่วมกันหล่อรูปเหมือนหลวงปู่เขียว ขนาดเท่าองค์จริงไว้ประจำ ณ วัดอ่างทอง

ในรอบปีหนึ่งผู้ที่เคารพรักใคร่และศรัทธาในองค์หลวงปู่เขียว จะเดินทางมาเคารพสักการะปิดทองรูปเหมือนของท่าน โดยกำหนดทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปี

ปัจจุบัน พระครูประกิตสังวรคุณ (สำรวม นิสโภ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส สานต่อปณิธานของหลวงปู่เขียว ได้ก่อสร้างพระมหาเจดีย์ศรีประจวบ รูปแบบอาคารเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จัตุรมุข ยอดเจดีย์ตั้งบนฐานไพที ประกอบศาลาราย 4 ทิศ ด้านหน้าหันสู่ทิศตะวันตก ฝั่งถนนเพชรเกษม

ภายในประดิษฐานพระประธาน 4 ทิศ พุทธศิลปะอยุธยา แบบทรงเครื่องปางประทานพรสูง 7 ศอก หล่อด้วยทองเหลืองปิดทองประดับพลอยสีนพเก้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน