หลวงปู่สุ่ย ถิรธัมโม ทายาทธรรมหลวงปู่สาธุ์

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่สุ่ย ถิรธัมโม ทายาทธรรมหลวงปู่สาธุ์ – หากจะกล่าวถึงพระเถระสืบสายเป็นทายาทธรรม หลวงปู่สาธุ์มีด้วยกันหลายรูปล้วนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ หลวงปู่ผล ญาณจารี วัดหนองบัวน้อย, หลวงปู่ทองสุข สมฺปนฺโน วัดโพธิชัยนิมิต เจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เป็นต้น

แต่ที่ได้ชื่อว่าเป็นทายาทธรรมที่รับใช้ใกล้ชิดมากที่สุด ต้องนับ “หลวงปู่สุ่ย ถิรธัมโม” หรือ พระครูสถิตวุฒิธรรม แห่งวัดหนองขาม ต.ก้ามปู อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม

เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายที่เฝ้าปรนนิบัติรับใช้ จนถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่สาธุ์ ในปี พ.ศ.2515

มีนามเดิมว่า สุวิทย์ ปุงปอพาน เกิดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2470 ที่บ้านหนองขาม ต.ก้ามปู อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม

เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านหนองขาม จากนั้นได้ออกมาช่วยงานครอบครัวทำไร่ทำนาด้วยความขยันขันแข็ง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีจิตใจโน้มเอียงเข้าหาพระธรรม เมื่ออายุครบบวช

ปี พ.ศ.2490 เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดทองนพคุณ โดยมีพระครูจันทรศรีตลคุณ วัดทองนพคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการพวง วัดอัมพวัน บ้านสระแคน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูมานิตย์ วัดบ้านหัวหมู เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ต่อมาได้รับทราบกิตติศัพท์ของหลวงปู่สาธุ์ เกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้าในวัตรปฏิบัติ จึงเดินทางไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ เล่าเรียนวิทยาคมกับหลวงปู่สาธุ์ รวมทั้ง ได้ศึกษาอักขระโบราณ ลาว ขอม ไทยน้อย จนมีความชำนาญทั้งอ่านและเขียน

จนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จารอักขระลงบนเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่สาธุ์ทุกเหรียญ ก่อนทำพิธีพุทธาภิเษก

นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจศึกษาพระธรรมวินัย เดินทางไปเรียนที่สำนักวัดทองนพคุณมุมานะศึกษาจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก

ก่อนได้รับการนิมนต์จากชาวบ้านหนองขาม ให้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหนองขาม ซึ่งเป็นบ้านเกิด นับแต่นั้นมาหลวงปู่สุ่ย ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้มาโดยตลอด

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังออกพรรษาทุกปี หลวงปู่สุ่ยจะออกธุดงควัตรไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามรอยพุทธองค์

มีตำแหน่งงานด้านปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2507 เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองขาม

พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูสถิตวุฒิธรรม

ด้วยความเป็นพระเคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติจำเริญรอยตามหลวงปู่สาธุ์ ผู้เป็นพระอาจารย์ ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังขจรขจาย

จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระกัมมัฏฐานรูปหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ

ในแต่ละวันจึงมีญาติโยมจากทั่วสารทิศ เดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรม ประพรมน้ำพุทธมนต์ รวมทั้งวัตถุมงคลตะกรุดโทน ที่มากประสบการณ์และเหรียญรูปเหมือนที่เข้มขลังจากหลวงปู่สุ่ย อย่างล้นหลาม

สำหรับปัจจัยที่ได้จากการบริจาคศรัทธาของญาติโยมหลวงปู่สุ่ย หาได้เก็บงำไว้เป็นส่วนตัวไม่ แต่นำมาใช้พัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดแห่งนี้ อาทิ สร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กำแพงแก้ว เป็นต้น

รวมทั้งปรับปรุงพัฒนาภายในวัดให้มีความร่มรื่นเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมของสงฆ์ยิ่งนัก

นอกจากนี้ ยังมีความรู้ทางด้านเกษตร ส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ปุ๋ยคอกในการทำไร่ทำนา ด้วยการนำใบไม้ใบหญ้าที่หล่นในวัดไปหมักทำปุ๋ยใช้บำรุงต้นไม้ในวัดให้เจริญงอกงาม

อีกทั้งยังให้ความสำคัญทางด้านการศึกษา จัดตั้งสำนักเรียนสอนธรรมและบาลี เพื่อให้พระภิกษุ-สามเณร ไม่ต้องเดินทางไกลไปเรียนที่อื่น

ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร ในช่วงบั้นปลายชีวิตของหลวงปู่สุ่ย อาพาธบ่อยครั้ง

สุดท้ายท่านได้มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชราในปี 2543 สิริอายุ 72 ปี พรรษา 52

โดย…เชิด ขันตี ณ พล

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน