คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง

สุธน พันธุเมฆ

“วัดพระปรางค์เหลือง” ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านท่าน้ำอ้อย หมู่ที่ 1 ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งทิศตะวันออก ห่างจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร

เป็นวัดโบราณเก่าแก่มากวัดหนึ่ง เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรคำนวณอายุของวัดไว้ว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ.2305 ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากปูชนียสถาน เช่น องค์พระปรางค์ พระวิหาร อุโบสถ เป็นสิ่งบ่งบอกถึงอายุของโบราณสถานแห่งนี้ ทำให้ทราบว่าวัดพระปรางค์เหลืองมีอายุยาวนานประมาณถึง 249 ปี

นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่ใกล้กับโบราณสถานเมืองบน อันเป็นหัวเมืองโบราณสมัยทวารวดี ปรากฏร่องรอยคูเมืองโบราณติดอยู่ด้านทิศเหนือของวัด

สิ่งเหล่านี้ช่วยบอกให้ทราบว่าเคยเป็นแหล่งชุมชนและแหล่งอารยธรรมแห่งหนึ่งของชาติมาแต่โบราณ

ในอดีตที่ผ่านมาวัดนี้มีชื่อเสียงในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยทางยาสมุนไพร ตามหลักของแผนโบราณ รวมทั้งการรักษาโรคเคล็ดขัดยอก และอัมพาต โดยวิธีเหยียบฉ่าอย่างได้ผล

พระหมอจะใช้เท้าเหยียบยาสมุนไพร หรือน้ำมันยา แล้วเหยียบลงบนแผ่นเหล็กเผาไฟ จนแดง ร้อนจัด หรือใช้เท้าลนไฟถ่านให้ร้อนจัดแล้วเหยียบลงบนคนไข้จนเกิดเสียงดัง “ฉ่า” คนไข้ที่เป็นหนักก็บรรเทาอาการลงและสบายขึ้น

ในอดีต “พระครูพยุหานุศาสน์” (เงิน) หรือ หลวงพ่อเงิน อดีตเจ้าอาวาส และอดีตเจ้าคณะเมืองพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเคารพนับถือทั้งของข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนอย่างกว้างขวาง จนได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูพยุหานุศาสน์” ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรี มีชื่อเสียงทางด้านรดน้ำมนต์ “มหาจินดาสารพัดนึก”

อาคารเสนาสนะต่างๆ ของวัดพระปรางค์เหลือง มีอุโบสถ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก, ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้, หอสวดมนต์ เป็นอาคารไม้, กุฏิสงฆ์ 25 หลัง เป็นอาคารไม้ 10 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 15 หลัง

สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถ และมีพระปรางค์ ซึ่งมีฐานกว้าง ด้านละ 7 เมตร สูงประมาณ 5 เมตร

วัดพระปรางค์เหลืองสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่พ.ศ.2325 เดิมเป็นป่ารก อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา มีพระปรางค์เป็นของเก่าแก่อยู่เป็นหลักฐาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2444 ครั้งที่ 2 ปีพ.ศ.2449

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งหลังวันที่ 5 พ.ย.2523 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร

เปิดสอนพระปริยัติธรรม พ.ศ.2467 วัดนี้มีโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการตั้งอยู่ด้วย ซึ่งทางวัดได้ให้การอนุเคราะห์ด้วยดีตลอดมา

การบริหารและการปกครองมี พระครูนิสิตคุณากร (สนม) เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์เหลืองรูปปัจจุบัน

พระครูนิสิตคุณากร (สนม) สืบเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติหลวงพ่อเงินจากคนเฒ่า-คนแก่ ความว่า หลวงพ่อเงินเกิดเมื่อปีพ.ศ.2384 บิดาเชื้อสายจีนไหหลำ เป็นชาวบ้านย่านไม้รวก จ.สิงห์บุรี ครอบครัวอพยพตั้งแต่หลวงพ่อเงินยังเป็นเด็ก อยู่ที่บ้านหนองหมู ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ประกอบอาชีพทำไร่

อายุ 10 ขวบบิดานำไปฝากตัวที่วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี ซึ่งสมัยก่อนเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียง

อายุครบ 20 ปีอุปสมบทที่วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ โดยมีหลวงพ่อแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาตำรายาแผนโบราณ เรียนสูตรมูลกัจจายน์ วิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงพ่อแก้วและหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว

ต่อมาพี่ชายได้ภรรยาอยู่ที่บ้านท่าน้ำอ้อยใกล้วัดพระปรางค์เหลือง จึงนิมนต์หลวงพ่อเงินมาเทศน์มหาชาติ ทำให้คุ้นเคยกับหลวงพ่อสี เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์เหลือง ขณะนั้น หลวงพ่อสีชักชวนให้มาจำพรรษาที่วัดพระปรางค์เหลือง

ท่านเรียนรู้และมีความชำนาญทางสมุนไพรยารักษาโรคแผนโบราณ จนเป็นที่เลื่องลือไกล มีคนมารักษามากมาย อีกทั้งโด่งดังในเรื่องการรดน้ำมนต์

ต่อมาหลวงพ่อสีมรณภาพ จึงนิมนต์หลวงพ่อเงินให้เป็นเจ้าอาวาส และไม่นานท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “พระครูพยุหานุศาสน์” เจ้าคณะอำเภอเมืองพยุหะคีรี

ต่อมาอาพาธเป็นไข้ และมรณภาพเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2450 เวลา 2 ทุ่มเศษ สิริอายุ 66 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน