อธิการบดี-ผู้บริหารมหาจุฬาฯ ตรวจเยี่ยม‘พระบัณฑิตอาสา’ : พระเครื่อง

อธิการบดี – พระราชปริยัติกวี(สมจินต์ สัมมาปัญโญ) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) นำคณะผู้บริหาร มหาจุฬาฯ อาทิ พระเมธีธรรมจารย์ (ประสาร จันทสโร) รองอธิการบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา, พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ, พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่, พระวิมลมุนี รองอธิการบดีฯ วิทยาลัยเขตเชียงใหม่

อธิการบดี-ผู้บริหารมหาจุฬาฯ ตรวจเยี่ยม‘พระบัณฑิตอาสา’ : พระเครื่อง

นายอภิรมย์ ศรีดาคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยเขตเชียงใหม่ และคณะ เดินทางขึ้นยังอาศรมบ้านแม่ลิดป่าแก่ ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามงานพระบัณฑิตจิตอาสาพัฒนาชาวเขา และมอบพระพุทธรูปแก่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ

มีพระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ (อนันต์ จันทาโภ) เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเจ้าอาวาส วัดพระธาตุดอยกองมู, นายธนกฤต ฉันทจำรัสศิลป์ นายอำเภอแม่สะเรียง และนายวินัย ปุณยรัชตปรีดา ผอ.พระพุทธศาสนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าร่วม

พระราชปริยัติกวีกล่าวว่า กุศลเจตนาของพระบัณฑิตอาสาที่มาทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูงเหล่านี้ ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทุกคนในพื้นที่ สิ่งที่ได้มาเห็นชัดเจนคือ ชาวบ้านมีความอบอุ่นใจในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

อธิการบดี-ผู้บริหารมหาจุฬาฯ ตรวจเยี่ยม‘พระบัณฑิตอาสา’ : พระเครื่อง

โดยก่อนนั้นเรื่องของศาสนาหรือเรื่องของความเชื่อ ก็ปฏิบัติตามประเพณีท้องถิ่น เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ เป็นบรรพบุรุษ ต้นไม้ ภูเขา เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของเขาตามที่เคยเชื่อถือกันมา ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่พอมีพระสงฆ์เข้ามาอยู่ เมื่อมีปัญหาชีวิต หรือมีข้อขัดข้องประการใดก็ยังมีที่พึ่งที่ปรึกษาเพิ่มขึ้น เป็นการสื่อสาร 2 ทาง มีความอบอุ่นใจเชิงประจักษ์ได้มากกว่า อีกประการหนึ่งคือ การอนุรักษ์สืบทอด รักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม

แม้ว่าเขาจะมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามในท้องถิ่นดีอยู่แล้ว แต่เมื่อสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมก็อาจสูญหายไปได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อาจจะไม่มีแบบอย่างในการใช้ชีวิต ก็ได้พระสงฆ์ที่ชักชวนชาวบ้านให้ได้เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรม เพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นความมั่นคงด้านวัฒนธรรม

อธิการบดีมหาจุฬาฯ กล่าวต่อว่า อีกประการ เป็นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติแต่เดิมที่คนในท้องถิ่นอยากใช้ทรัพยากรอย่างไรก็ใช้ไป เช่น การตัดไม้ เผาป่า ล่าสัตว์ แต่เมื่อมีพระสงฆ์ท่านเข้าไปอยู่แล้วสิ่งใดที่ควรจะได้จากธรรมชาติก็เอา ตามสมควร ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ก็ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันอนุรักษ์ดูแลด้วยการ รักษาป่าบ้าง ปลูกป่าบ้าง เพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งนี้เห็นว่าดีขึ้นมากหลังจากพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาเข้าไปอยู่ในพื้นที่

อธิการบดี-ผู้บริหารมหาจุฬาฯ ตรวจเยี่ยม‘พระบัณฑิตอาสา’ : พระเครื่อง

นอกจากนี้ เรื่องของการดูแลความเป็นอยู่ของคนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เนื่องจากเวลากลางวันพ่อบ้านแม่บ้านก็ต้องออกไปทำมาหากิน ผู้เฒ่า ผู้แก่และเด็กเล็ก พระสงฆ์ก็เข้าไปช่วยดูแล เป็นการอนุเคราะห์ สงเคราะห์ ทำให้ผู้ที่ออกไปทำกินไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

ปัจจุบัน พระบัณฑิตอาสามีอยู่ประมาณ 35 อาศรมใน 4 จังหวัด แต่ก็ทำงานแบบ เครือข่ายเชื่อมโยงกับพระธรรมจาริกตามที่คณะสงฆ์ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้การทำงานก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ตนจึงให้แนวทางไปว่า ควรจัดกลุ่มให้เป็นกลุ่มงาน หรือกลุ่มกิจกรรมเพื่อจัดกิจกรรมในชุมชน เช่น กิจกรรม ส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรมในชุมชน กลุ่มอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงานมากยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ พระราชปริยัติกวี เป็นประธานในการเปิดป้ายหมู่บ้านส่งเสริมศีล 5 จากนั้นได้ปลูกต้นไม้ (ต้นโศก) ณ ด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุเจดีย์ และเปิดป้ายธนาคารข้าว ภายในอาศรมพระบัณฑิตอาสาฯ

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2562 เวลา 07.30 น. อาศรมพระบัณฑิตอาสา ร่วมกับพุทธศาสนิกชนจากหลายหมู่บ้านในเขตตำบลแม่เหาะ จัดพิธีทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ มีพระราชปริยัติกวี นำคณะสงฆ์กว่า 30 รูปออกรับบาตร ต่อจากนั้น ได้เป็นประธานนำสวดมนต์ไหว้พระ การสมาทานศีล การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ และมอบปัจจัยส่วนตัวจำนวนหนึ่งและหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ แก่อาศรมพระบัณฑิตอาสาฯทั้ง 35 แห่ง มอบพระพุทธรูปและเกียรติบัตรแก่ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ จำนวน 300 ราย

พร้อมกับมอบเครื่องกีฬาให้แก่ผู้แทนชุมชนทุกชุมชนที่เข้ามาร่วมพิธีด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน