คอลัมน์ อริยะโลกที่6

“หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล” เกิดที่บ้านจาน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เป็นเด็กยากจน แต่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

ต่อมาบิดามารดาเห็นแววทางด้านพระพุทธศาสนา จึงให้บรรพชาเมื่ออายุ 14 ปี และนำไปฝากกับพระอาจารย์สีดา เจ้าอาวาสวัดบ้านจาน ซึ่งเป็นพระที่เชี่ยวชาญด้านกัมมัฏฐาน

ในปี 2460 ขณะอายุ 23 ปี เข้าพิธีอุปสมบท มีหลวงพ่อสีดา เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเพ็ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และหลวงพ่อผุย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับรับฉายาว่า ฐิตสีโล

จากนั้น ศึกษาวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ ในแถบนั้นเป็นเวลา 4 ปี ก่อนออกแสวงหาครูบาอาจารย์อื่นๆ เพื่อศึกษาคันธธุระและวิปัสสนาธุระในชั้นที่สูงขึ้นไป

พ.ศ.2464 หลวงปู่หมุน เริ่มออกศึกษาแสวงหาประสบการณ์ ร่ำเรียนวิทยาคมและสมถกัมมัฏฐานจากครูบาอาจารย์หลายสำนัก การเดินทางในสมัยนั้นเป็นที่ลำบากยากเย็น ต้องเดินเท้าเปล่า แต่หลวงปู่มิได้ย่อท้อ เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมที่สำนักตักศิลาแห่งบ้านจิกใหญ่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

ในช่วงปี 2475-2482 เมื่อหลวงปู่หมุนสำเร็จการศึกษา เก็บบริขารออกธุดงค์ป่าผ่านถิ่นทุรกันดารในชนบทมายังกรุงเทพฯ ในระยะแรกเข้าพักที่วัดเทพธิดาราม เป็นการชั่วคราว โดยมีครูทองอินทร์ วัดเทพธิดาราม เป็นผู้เอื้อเฟื้อจัดหาที่พำนักให้ ท่านได้ให้หลวงปู่อยู่ที่วัดวัดอรุณราชวรา ราม พำนักอยู่กับพระพิมลธรรม (นาค) ศิษย์สายสมเด็จพระสังฆราช (แพ)

โอกาสนี้ ร่ำเรียนวิชาคัมภีร์มูลกัจจายนสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรของคณะสงฆ์ไทยที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

เข้าสอบวิชามูลกัจจายน์ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งการสอบในสมัยนั้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ และพระเถราจารย์เป็นผู้ทดสอบด้วย โดยมีการถามตอบแบบมุขปาฐะ (ปากเปล่า) ถ้าถามตอบบาลีผิดเกิน 3 คำ ให้ปรับเป็นตกทันที

ด้วยความรู้ความสามารถที่แตกฉานในคัมภีร์หลวงปู่หมุน สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคในคราวเดียว

เป็นครูสอนมูลกัจจายน์อยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม (ฝั่งธนบุรี) เป็นเวลานานหลายปี มีลูกศิษย์มากมาย

จากนั้น เก็บบริขารเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์ทองดี ที่มาจาก อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ธุดงค์ไปทางภาคเหนือเข้าเขตพม่าเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นก็เดินเท้าเปล่าลงภาคใต้ไปพำนักกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐานและแลกเปลี่ยนวิชา ก่อนธุดงค์เข้าเขตประเทศมาเลเซีย เพื่อจะเรียนวิชากับพ่อท่านครน วัดบางแซะ แต่ไม่พบจึงตัดสินใจกลับวัดช้างให้

ต่อจากนั้น ได้เรียนวิชาจากพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช โดยได้ของที่ระลึกจากพ่อท่านคล้าย คือชานหมากเม็ดใหญ่ จากนั้นเดินธุดงค์กลับสู่เขตอีสานอีกครั้ง และพบกับหลวงปู่สี ฉันทสิริ ในป่าแถบจังหวัดหนองคาย ได้วิชาลบผงสีจากหลวงปู่สี

หลังจากนั้น หลวงปู่หมุนกลับมาจำพรรษา ที่วัดบ้านจาน จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์

ปฏิบัติศาสนกิจตามที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลาถึง 20 ปี จึงลาออกจากทุกตำแหน่ง ต้องการใช้ชีวิตที่เหลือบำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติพระวิปัสสนาธุระอย่างเดียว

ประมาณปี 2487 ในช่วงที่หลวงปู่หมุนอายุ 50 ปี ออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าดงดิบ พบกับอาจารย์จ่อยและอาจารย์ขวัญ วัดป่าหนองหล่ม ระหว่างที่ธุดงค์โดยบังเอิญ

พระอาจารย์ทั้ง 2 นิมนต์หลวงปู่หมุนโปรดญาติ โยมที่วัดป่าหนองหล่ม หลังจากที่หลวงปู่หมุนเดินธุดงค์แสวงหาธรรมอยู่หลายสิบปี ประมาณปี 2520 จึงกลับมายังวัดบ้านจาน ซึ่งวัดบ้านจานในยามนั้น มีอายุกว่า 200 ปี อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงได้พัฒนาวัด สร้างอุโบสถขึ้นมา ได้ทำให้อุโบสถเสร็จสมบูรณ์ในเวลาอันสั้น

จนกระทั่ง วันที่ 11 มี.ค.2546 จึงมรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 109 ปี พรรษา 86

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน