พระราชปริยัติกวี เปิดเคล็ดลับการปราบกิเลส

พระราชปริยัติกวี – พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สัมมาปัญโญ) พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งและมีหน้าที่รับผิดชอบในหลายภาคส่วน เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ และเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวงแล้ว ยังดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อีกด้วย

พระราชปริยัติกวี เปิดเคล็ดลับการปราบกิเลส : หน้าพระเครื่อง

โครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” จัดโดย บริษัท ซีพี ออลล์ นิมนต์ท่านบรรยายในหัวข้อ “เคล็ดลับการปราบกิเลส” ซึ่งท่านเกริ่นให้ฟังว่า ความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ความร่มเย็นเป็นสุขในการใช้ชีวิตครอบครัว ในหน้าที่การงาน มีส่วนประกอบอย่างน้อย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพ ส่วนที่ 2 เป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ส่วนที่ 3 สำคัญอย่างยิ่ง คือบุญบารมี ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น

ในทางพระพุทธศาสนาสิ่งที่เกื้อหนุนให้ประสบความสำเร็จ ใช้คำว่าบุญวาสนาบารมี สิ่งที่เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคคอยขัดขวางความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข เรียกว่า “มาร” ในภาษาบาลีแปลว่าทำให้ตาย หรือขัดขวาง แบ่งเป็น 5 อย่าง คือ 1.กิเลสมาร หรือกิเลสของ ตัวเอง มารคือกิเลส

พระราชปริยัติกวี เปิดเคล็ดลับการปราบกิเลส : หน้าพระเครื่อง

2.ขันธมาร มารคือ ขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมารเรื่องสุขภาพ เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิต 3.อภิสังขารมาร หมายถึงว่าความคิดของตัวเอง คิดผิด ตัดสินใจผิด 4.เทวบุตรมาร คือคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน มาคอยขัดขวาง เป็นอุปสรรค หรือเพื่อนร่วมงานไม่เป็นกัลยาณมิตร ไม่ส่งเสริม 5.มัจจุมาร คือความตาย

ในส่วนของ “กิเลสมาร” หลักคือ มีโลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่ “นิวรณ์” แปลว่า ขัดขวาง ไม่ให้บรรลุถึงคุณงามความดี เป็นกิเลสที่ชัดเจน

“เรื่องกิเลสนี้ไม่ว่าใครก็มีด้วยกันทั้งนั้น มากเท่าๆ กัน มีเท่ากัน แต่บางคนดูเหมือนน้อย บางคนปรากฏกิเลสออกมามาก บางคนปรากฏออกมาน้อยขึ้นอยู่กับกาลเทศะ ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการจิตของเรา และขึ้นอยู่กับการอบรมบ่มเกลาตัวเราเองด้วย”

พระราชปริยัติกวี เปิดเคล็ดลับการปราบกิเลส : หน้าพระเครื่อง

“นิวรณ์” เป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางความดีงามของจิตมี 5 อย่าง คือ 1.กามฉันทะ พอใจในกามในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัส ทำให้ใจไม่นิ่งไม่มีสมาธิ 2.พยาบาท ขุ่นเคืองเคียดแค้น อาฆาต หงุดหงิด 3.ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน 4.อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญ และ 5.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

พระราชปริยัติกวี อธิบายถึงวิธีปราบกิเลสว่า นิวรณ์มี 2 หลักคือ หลักของคนทำมาหากิน กับหลักของพระเจ้าพระสงฆ์ ซึ่งส่วนมากจะเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่คนทำมาหากินเริ่มด้วยทาน ศีลภาวนา ถ้าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

“การให้ทานทั้งส่วนที่เป็นสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภคอยู่เนืองๆ ตามฐานะตามกำลัง อย่าให้ทานเกินกำลัง แต่หลักคือให้อยู่เนืองๆ เพราะการให้ทานเป็นพิธีการกำจัดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ของเราให้มีระดับปานกลาง โดยเฉพาะสำคัญอย่างยิ่งคือธรรมทาน ทั้งในรูปแบบของการเป็นกัลยาณมิตร ให้ คำแนะนำ ให้คำตักเตือน ให้กำลังใจ ให้ความปรารถนาดี และให้วิชา ฯลฯ ถือเป็นธรรมทานที่ยิ่งใหญ่”

พระราชปริยัติกวีย้ำว่า ในการปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา ในส่วนของศีลต้องให้ครบทั้ง 4 ด้าน ด้านที่ 1 ศีลเป็นข้อๆ แสดงถึงความเป็นคนดีในทางศาสนา ด้านที่ 2 ศีลเป็นเรื่องของการจัดระเบียบตัวเอง ด้านกาย วาจา ด้านที่ 3 ศีลที่เป็นการจัดระเบียบเวลาในการประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป และด้านที่ 4 ศีล คือการจัดระเบียบการใช้สอยทรัพย์สินเครื่องอุปโภค บริโภคที่ตัวเองหามาได้ในความสุจริต ยุติธรรม ฉะนั้นอย่าไปมุ่งด้านศีลเป็นข้อๆ อย่างเดียว เพราะศีลอีก 3 ด้านที่เหลือแสดงถึงความเป็นคนดีของครอบครัวและสังคม

สำหรับการรักษาศีล 5 ครบบ้างไม่ครบบ้าง เอาแต่พอประมาณเพราะบางอาชีพก็ไม่สามารถทำได้ครบทั้ง 5 ข้อ

อย่างไรก็ตาม ควรหาโอกาสรักษาอุโบสถศีล หรือศีล 8 บ้าง แต่หลักศีล 5 ต้องให้ได้พอประมาณ จะทำให้มีสมาธิ และสมาธิจะไปช่วยกำจัดนิวรณ์ 5 ทั้งหลาย ซึ่งเทคนิควิธีการสร้างสมาธิอย่างง่ายๆ คือใช้วิธีธรรมชาติ เริ่มด้วยบุญ การทำคุณงามความดี

ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำจากพระราชปริยัติกวีเกี่ยวกับแนวทางในการปราบกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรักษาศีล 5

ผู้สนใจร่วมฟังธรรมะบรรยายในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” ได้ที่ชั้น 11 อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00-13.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน