คนเขียนเรื่องพระเครื่องดูพระเป็นไหม?

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

คนเขียนเรื่องพระเครื่องดูพระเป็นไหม? – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เขียนเรื่องพระเครื่องมานานบางทีก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร บางทีก็เขียนซ้ำไปซ้ำมาวันนี้ก็มาคุยกันเรื่อยเปื่อยเรื่องทั่วๆ ไปก็แล้วกันนะครับ

พอดีวันก่อนผมได้เข้าไปพูดคุยในวงสนทนาที่ศูนย์พระเครื่องใหญ่แห่งหนึ่งตามประสาคนชอบพระเครื่อง ได้มีการพูดถึงคนที่เขียนเรื่องพระเครื่องว่าส่วนใหญ่ดูพระไม่เป็น อืมก็ถูกนะเพราะคนเขียนเรื่องพระเครื่องส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เซียนพระ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอาชีพซื้อ-ขายพระเครื่องเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง

คนที่ได้รับขนานนามว่าเซียนนั้นก็จะเป็นผู้ที่มีอาชีพซื้อ-ขายพระเครื่อง เพราะเขาประกอบอาชีพนี้จึงต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านพระเครื่องในสายของเขา และเขาก็ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ต้องตัดสินใจในการซื้อพระเครื่องที่มีคนนำมาขายให้ด้วยตัวเองว่าใช่หรือไม่

อีกทั้งประเมินราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผิด-ถูกก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง เขาจึงต้องเป็นผู้ชำนาญการในด้านพระเครื่อง ในส่วนของผู้ที่เขียนเรื่องพระเครื่องส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่นิยมชมชอบพระเครื่อง แต่ก็ไม่ได้ประกอบอาชีพซื้อ-ขายพระเครื่องโดยตรง บ้างก็ทำเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพเสริมเท่านั้น อ้าวแล้วที่เขาเขียนนั้นจะเชื่อถือได้หรือ?

ครับผู้ที่เขียนเรื่องพระเครื่องนั้นส่วนใหญ่ก็อย่างที่บอกว่าเป็นผู้ที่นิยมชมชอบพระเครื่องเท่านั้น หรือเป็นนักสะสม ส่วนใหญ่ก็จะเขียนเรื่องประวัติของพระสงฆ์บ้าง เรื่องพระกรุบ้าง โดยค้นคว้าหาประวัติข้อมูลมาเขียน จึงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาพระเครื่อง

แต่ก็อาจจะพอพิจารณาได้บ้างเท่านั้น แต่ในสมัยก่อนก็มีผู้เขียนเรื่องพระเครื่องที่เชี่ยวชาญอยู่หลายท่านที่สามารถพิจารณาแท้ไม่แท้ได้ และก็ไม่ได้เป็นเซียนหรือมีอาชีพซื้อ-ขายพระ เช่น อ.ตรียัมปวาย อ.สมศักดิ์ จวงสวัสดิ์ เป็นต้น

แต่ท่านก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาพระเครื่องเป็นที่ยอมรับในสังคมพระเครื่อง และก็มีผู้ใช้สิ่งที่ท่านเขียนมาเป็นตำราศึกษา ส่วนเซียนที่มีอาชีพซื้อขาย-พระก็มีที่เขียนเรื่องพระเครื่อง เช่น อ.เภา ศะกุนตะสุต ปรมาจารย์เหรียญพระเกจิอาจารย์ที่ทุกคนยกย่องและยอมรับ และก็มีนิรนามที่เขียนเรื่องพระเบญจภาคีโดยเฉพาะพระสมเด็จฯ ที่เขียนลงในอาณาจักรพระเครื่อง

แต่ท่านไม่ยอมให้ลงชื่อของท่าน พี่เปี๊ยก ปรีชา เอี่ยมธรรม บ.ก.จึงตั้งนามปากกาว่า “นิรนาม” และหลายๆ คนก็นำสิ่งที่ท่านเขียนมาเป็นตำราในการศึกษาโดยที่ไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร อ.ประจำ อู่อรุณ ก็เคยทำหนังสือพระเครื่อง

ครับผู้ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องพระเครื่องความจริงก็มีที่ดูพระเป็นอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้นิยมศึกษาและสะสมพระเครื่องเท่านั้น ไม่ใช่เซียนพระที่มีอาชีพซื้อ-ขายพระเครื่อง หรือเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญแต่อย่างใด

ตัวผมเองก็พูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า “ผมดูพระไม่เป็นครับ” หลายๆ ท่านร้องอ้าว แล้วที่เขียนหรือตอบปัญหาพระเครื่องล่ะ ครับที่ตอบปัญหา พระเครื่องนั้นผมก็นำรูปพระที่ท่านส่งมาถามไปให้เซียนเขาดูให้ อาศัยที่รู้จักเซียนหลายคน และก็พอรู้ว่าใครชำนาญพระเครื่องด้านใด และพอจะสนิทสนมที่จะสอบถามได้ ก็นำรูปไปถามเขาให้เท่านั้นครับ ในส่วนของเรื่องราวของพระเครื่องพระเกจิอาจารย์ก็ค้นคว้าสอบถามจากหลายๆ แหล่งรวบรวมแล้วนำมาเขียน ซึ่งก็ผ่านการกลั่นกรองว่าถูกต้องดีแล้วจึงนำมาเขียนครับ

คนเขียนเรื่องพระเครื่องดูพระเป็นไหม?

บางทีก็มีหลายท่านนึกว่าผมเป็นผู้ชำนาญในการพิจารณาพระเครื่อง ซึ่งความจริงดูพระไม่เป็นครับ แค่พอมีหลักในการดูและก็พอซื้อพระเองได้เท่านั้น เคยมีคนที่คุ้นเคยกันและเป็นนักนิยมพระเครื่องถามผมว่าดูพระอะไรเป็น ผมก็ตอบตามตรงว่าดูพระไม่เป็นครับ แค่พอซื้อเป็นเท่านั้นครับ จริงๆ นะครับ

ถ้าเราพอมีหลักในการพิจารณาและใช้เหตุผลในการพิจารณา เข้าหาความรู้ต่างๆ จากเซียน ก็จะได้ความรู้ และรู้ว่าทำไมเขาจึงตัดสินใจซื้อพระองค์นั้นๆ เขาใช้หลักอะไรในการพิจารณา ศึกษาจากเซียนคนนั้นทีคนนี้ทีก็พอจะมีความรู้เอาตัวรอดได้ครับ แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ชำนาญการ หรือเป็นเซียนนะครับ

และถ้าเราซื้อหาสะสมพระเครื่องมาถูกหลักการสากลนิยมแล้วเราก็จะได้พระแท้ๆ ที่เขานิยมกันและมีมูลค่ารองรับ ไม่แน่นะครับคนเราวันหนึ่งก็อาจจะมีเรื่องจำเป็นที่จะต้องใช้เงินด่วนขึ้นมา ก็เอาพระที่สะสมไว้ไปขายให้พวกเซียน เขาก็ซื้อนะครับ

ยิ่งพระที่เราซื้อมานานหลายๆปี ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาด้วย บางท่านถามว่าจะคุ้มกับค่าเงินเฟ้อรวมดอกเบี้ยธนาคารไหม ก็ต้องบอกว่าคุ้ม ถ้าเงินที่ซื้อมาเป็นเงินเย็นและคิดว่าเป็นเงินออม แต่ก็ต้องซื้ออย่างถูกต้องและมีสตินะครับ

ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เมื่อประมาณปี พ.ศ.สองพันห้าร้อยสิบกว่าๆ มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเช่าพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ องค์สวยองค์ดังของสังคมพระเครื่อง ในราคาสี่แสนกว่าบาท เป็นข่าวดังในสังคมพระเครื่องเวลานั้น ซึ่งพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่วัดระฆังฯ สวยๆ ทั่วไปในช่วงนั้นราคาประมาณแสนกว่าบาท หรือสองแสนกว่าบาท

ในปัจจุบันมีคนประเมินพระองค์นี้ไว้ที่ไม่ต่ำกว่าหกสิบล้านบาท และมีคนรอเช่าอยู่หลายคน แต่เจ้าของยังหวงอยู่ ถามว่ามูลค่าเพิ่มคุ้มกับเงินเฟ้อบวกดอกเบี้ยธนาคารหรือไม่ ลองคำนวณดูนะครับ

วันนี้ผมขอนำรูปพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้ม องค์สวยที่สุดของสังคมพระเครื่องฯ มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน