พระราชธรรมมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

พระราชธรรมมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส : อริยะโลกที่ 6 – “พระราชธรรมมุนี” (เกียรติ สุกิตติ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เป็นพระนักปราชญ์ผู้รอบรู้ในด้านพุทธศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และสาขาวิชาต่างๆ แก่ทุกคน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะแต่อย่างใด

พระราชธรรมมุนี

มีนามเดิมว่า เกียรติ อุตสาหกุล เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.ย.2474 ปีมะแม ที่บ้านท่าลาดขาว หมู่ที่ 1 ต.ท่าลาดขาว อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา

ในช่วงวัยเยาว์เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลท่าลาดขาว จนสำเร็จประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนลาออกมาช่วยโยมบิดามารดา หลังจากนั้น เข้าพิธีบรรพชาที่วัดพลับพลา ต.พลับพลา อ.โชคชัย จ.นครราช สีมา เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2487 โดยมี พระครูพรหมพงศ์พิสุทธิ์ (ภู่ พรหมสโร) วัดพลับพลา เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ที่สำนักเรียนวัดท่าลาดขาว ก่อนย้ายมาเรียนในกรุงเทพฯ โดยไปอยู่จำพรรษาที่วัดจักวรรดิ

กระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ สามเณรเกียรติเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดจักรวรรดิราชาวาส แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2495 โดยมี พระคุณาจารวัตร (ไช้ สุวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณณกมหาเถร) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระวรญาณมุนี (เสถียร ธัมมสาโร) วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า สุกิตติ มีความหมายว่า ชื่อเสียงดี

ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อขึ้นไปตามลำดับ พ.ศ.2496 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค

จากนั้นท่านเดินทางไปศึกษาต่อประเทศอินเดีย และสอบได้ปริญญาปฏิอาจาริยะ คือ ปริญญาโท ฝ่ายภาษาและวรรณคดีบาลี ตามหลักสูตรการศึกษาอย่างเก่าของอินเดีย รัฐบาลเทียบฐานะเท่าปริญญาตรี เกียรตินิยมของหลักสูตรระบบใหม่ โดยศึกษารวม 9 หมวดวิชา ตอบด้วยภาษาบาลีทั้งสิ้น ควบคู่กับภาษาอังกฤษ แต่ในการถามตอบด้วยภาษาบาลีทั้งสิ้น ดำเนินการสอบโดยมหาวิทยาลัยสันสกฤต แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

พ.ศ.2507 สอบได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงภาษาฮินดี จากสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนานาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

พ.ศ.2508 สอบได้ปริญญาโท (M.A.) ทางพระพุทธศาสนา ฝ่ายบาลี จากมหาวิทยาลัยมคธ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย (ได้คะแนนเป็นที่ 2)

พ.ศ.2509 ผลจากการเรียนดี ทำคะแนนในการสอบได้ดีดังกล่าว สถาบันการศึกษาพุทธศาสนานาลันทา ได้เสนอชื่อให้ได้รับทุนทำปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี เมืองพาราณสี รัฐอุตตระ ประเทศอินเดีย

เข้าเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยพาราณสี ค้นคว้าเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ด้านภูมิประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา โดยได้รับทุนการศึกษาในชั้นต้นจากมหาวิทยาลัยพาราณสี และต่อมาเปลี่ยนเป็นทุนที่สูงขึ้นจากรัฐบาลอินเดีย แต่ด้วยสุขภาพไม่อำนวย จึงต้องงดการศึกษา และกลับประเทศไทย ใน พ.ศ.2518

พระราชธรรมมุนี มีประวัติการทำงาน และประสบการณ์ชีวิตที่โดดเด่นคือ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส โดยสอนชั้นบาลีไวยากรณ์, ประโยค ป.ธ.3 และ ป.ธ.5 และเป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมและบาลีสนามหลวง

พ.ศ.2502 ได้รับคัดเลือกจากทางการคณะสงฆ์และรัฐบาล ให้เป็นรูปหนึ่งในคณะพระสงฆ์ไทยชุดแรก จำนวน 5 รูป มี สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี ไปปฏิบัติศาสนกิจประจำอยู่เป็นเวลา 3 ปี ในฐานะเลขานุการวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย

พระราชธรรมมุนีได้ทำหน้าที่เทศนาสั่งสอนประชาชน ในวันธรรมสวนะตามวาระที่วัดจักรวรรดิราชาวาสจัด และเทศนาพิเศษในงานพิธีและโอกาสต่างๆ ทั้งในวัดและนอกวัด และแสดงพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ได้รับอาราธนา และได้เรียบเรียงข้อเขียนและบทความรวมหลายครั้ง ให้แก่กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำออกอากาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์

พ.ศ.2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส พระอารามหลวง

พระราชธรรมมุนีได้บริหารจัดการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอาชีพต่างๆ ผ่านมติที่ประชุมทุกฝ่าย โดยเฉพาะการปรับปรุงเสนาสนะให้อยู่ในระดับมาตรฐาน และเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใช้สอยอย่างแท้จริง ไม่เน้นการสร้างใหม่ให้สิ้นเปลือง

กระทั่งเวลา 04.30 น. วันที่ 26 ส.ค.2552 มรณภาพอย่างสงบ ด้วยอาการเลือดออกจากช่องท้องอย่างรุนแรงจากโรคกระเพาะอาหาร ที่โรงพยาบาลกลาง

สิริอายุ 78 พรรษา 57

อ่าน : อริยะโลกที่6 : พระเทพปฏิภาณกวี บุคคลดีเด่นมูลนิธิสมานฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน