หลวงพ่อสิลา ฐิตธัมโม อดีตเจ้าคณะ อ.บรบือ

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงพ่อสิลา ฐิตธัมโม – “หลวงพ่อสิลา ฐิตธัมโม” หรือ พระครูบริรักษ์ธรรมกิตติ อดีตเจ้าอาวาสวัดบรบือสราราม และอดีตเจ้าคณะอำเภอบรบือ จ.มหาสารคาม เป็นพระนักพัฒนา นักการศึกษา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่มหาสารคาม เมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา

เกิดในสกุล จันทรสิตางกูร เมื่อปี พ.ศ.2463 ที่บ้านบ่อใหญ่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม บิดา-มารดา ชื่อ นายจันทีและนางสีดา จันทรสิตางกูร

หลวงพ่อสิลา ฐิตธัมโม อดีตเจ้าคณะอ.บรบือ : อริยะโลกที่ 6

ในช่วงวัยเยาว์ ท่านจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน ก่อนลาออกมาช่วยงานครอบครัวหาเลี้ยงชีพทำไร่ทำนา

ครั้นพออายุ 16 ปี ไปพำนักอยู่กับญาติที่อำเภอโกสุมพิสัย และได้เข้าพิธีบรรพชาที่วัดใต้โกสุม ด้วยความมุ่งมั่นใฝ่ศึกษา พระปริยัติธรรม จึงเดินทางลงไปศึกษาที่สำนักเรียนวัดเทพธิดาราม กทม.

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท ที่พระอุโบสถวัดเทพธิดาราม มีพระธรรมรังษี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาพันธ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดบัว เป็นพระ อนุสาวนาจารย์

มุมานะศึกษา สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค รวมทั้งสอบได้ประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.)

ช่วงจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม ได้รับมอบหมายให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี

จนถึงปี พ.ศ.2491 ท่านได้เดินทางกลับอีสานบ้านเกิด จำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรีบ่อใหญ่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

ด้วยความที่เป็นพระหนุ่ม มีความรู้ด้านนักธรรมบาลีแตกฉาน ได้ถูกมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และเป็นผู้จัดการเรียนการสอนปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนวัดโพธิ์ศรีบ่อใหญ่ ทั้งแผนกธรรม-บาลี

ในยุคนั้นเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงมาก และได้ศึกษาเรียนรู้ระบบบริหารงานปกครอง เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดว่างลง บรรดาญาติโยม และคณะสงฆ์อำเภอบรบือ ได้นิมนต์ให้ท่านมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีบ่อใหญ่

หลังรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีบ่อใหญ่ได้ปีเศษ นายฉลอง สูตรสุวรรณ นายอำเภอบรบือขณะนั้น ได้นิมนต์ท่านให้มาสร้างวัดบรบือสราราม

เป็นหัวแรงใหญ่ ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวอำเภอบรบือ สร้างวัดบรบือสราราม เป็นผลสำเร็จ ก่อนย้ายมาจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดแห่งนี้ตราบจนวาระสุดท้ายของท่าน

ให้ความสำคัญกับการศึกษาสงฆ์เป็นอย่างมาก ได้ก่อตั้งสำนักเรียนที่วัดบรบือสราราม ทั้งแผนกธรรมและบาลี เนื่องจากเห็นว่าผู้บวชเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน โดยท่านรับหน้าที่เป็นครูสอนและเป็นเจ้าสำนักเรียนวัดบรบือสราราม

ในแต่ละปี ได้จัดหาทุนการศึกษาให้พระภิกษุ-สามเณรที่เรียนดี มีความประพฤติดี อีกทั้งยังจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน ส่งผลให้สำนักเรียนวัดบรบือสราราม มีชื่อเสียงโด่งดัง

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักพัฒนา ตลอดเวลาที่ท่านปกครองวัดบรบือสราราม ได้ร่วมแรงร่วมใจกับญาติโยมก่อสร้างเสนาสนะ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ อาทิ กำแพงแก้ว กุฏิ ซุ้มประตู เป็นต้น

จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้หลวงพ่อสิลามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่เข้มขลัง

สำหรับปัจจัยที่ได้จากการบริจาคจะนำไปบริจาคช่วยสาธารณกุศล

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2494 ได้รับ แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี พ.ศ.2495 เป็น เจ้าคณะอำเภอบรบือ พ.ศ.2496 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2497 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ พระครูบริรักษ์ธรรมกิตติ พ.ศ.2507 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

ในช่วงปัจฉิมวัย หลวงพ่อสิลามีอาการอาพาธบ่อยครั้งด้วยโรคชรา สุดท้ายได้มรณภาพด้วยความสงบ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2512 สิริอายุ 50 ปี พรรษา 30

โดย เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน