คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

พระพรหม หนึ่งในเทพสูงสุดตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ที่เรียกว่า “ตรีมูรติ” อันประกอบด้วย “พระพรหม” ผู้สร้างโลก “พระวิษณุ” ผู้คุ้มครองโลก และ “พระศิวะ” ผู้ทำลายโลก

ต่อมาวิวัฒนาการทางความเชื่อทางศาสนา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตามประเพณี ก่อเกิดเป็นนิกายต่างๆ อาทิ นิกายไศวะ หรือไศวะนิกาย และไวษณพนิกาย หรือไวษณวนิกาย ทั้ง 2 นิกายให้ความเคารพนับถือเทพ คือ “พระศิวะ” และ “พระวิษณุ” เป็นพิเศษ จึงลดความศรัทธาความเชื่อถือพระพรหมลง

จนเมื่อมาถึงปี ค.ศ.10 ชาวฮินดูจึงหันมาให้ความเคารพนับถือพระพรหม

“พระพรหม” กลายเป็นเทพองค์สำคัญขึ้นมาอีกครั้ง มีการสร้างเทวาลัยและรูปเคารพมากมายหลายแห่ง โดยได้รับการนับถือบูชาในฐานะที่เทพเจ้าผู้สร้างทุกสรรพชีวิตบนโลกและจักรวาล ทรงเป็นผู้ให้และเป็น ผู้กำหนดโชคชะตา เป็นเทพแห่งการสร้างสรรค์ความเมตตา และเป็นผู้ให้กำเนิดคัมภีร์พระเวท

เทวลักษณะของพระพรหม มี 4 พระพักตร์ พระศอสวมสร้อยประคำ พระหัตถ์แต่ละข้างถือดอกบัว, คัมภีร์ และหม้อน้ำ มีพาหนะเป็น หงส์ หรือ ห่าน มีพระชายาพระนามว่า “พระสุรัสวดี” เทพีแห่งศิลปะวิทยาการและความรอบรู้ พระพรหม มีพระนามเรียกขานมากมาย อาทิ พระพรหมา, พระพรหมธาดา, ท้าวมหาพรหม, ปชาบดี, อาตมภู, โลกาธิปดี ฯลฯ

สำหรับประเทศไทย คติความเชื่อที่รับมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่า พระพรหม เป็นผู้สร้าง ผู้ลิขิตและกำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ รวมถึงสรรพชีวิตทั้งหลาย ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่เรียกว่า “พรหมลิขิต” และผู้ใดที่บูชาพระพรหมอยู่เป็นนิจ พระองค์จะประทานพรให้สมหวัง เรียกว่า “พรพรหม” หรือ “พรหมพร” พระพรหม จึงเป็นเทพเจ้าที่สาธุชนชาวไทยนิยมกราบไหว้ขอพรกันโดยถ้วนทั่ว สังเกตได้จาก “ศาลพระพรหม” หรือ “เทวาลัยพระพรหม” ที่มีการจัดสร้างกันแทบทุกถิ่นทั่วประเทศ

การสร้าง “เทวรูปพระพรหม” นั้น นิยมสร้างเป็น 4 พระพักตร์ 4 พระกร หรือ 8 พระพักตร์ 8 พระกร ถือสิ่งของต่างๆ กัน เช่น ช้อนตักไขเนยลงในไฟ, หม้อน้ำสำหรับใส่น้ำจากแม่น้ำคงคา, คัมภีร์พระเวท, เทพศาสตรา, คทาอาญาสิทธิ์, ศร และลูกธนู เป็นต้น พระวรกายสีแดงหรือสีขาว

แต่ปัจจุบันนิยมเป็นสีทอง พระศอคล้องสร้อยประคำ และมีม้า หรือหงส์ เป็นพาหนะ

การบูชาพระพรหมที่ถูกต้อง ประการแรกต้องเตรียม “ของสักการะ” ให้ครบ 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ “ธาตุดิน” คือ ดอกบัว “ธาตุน้ำ” คือ น้ำสะอาด “ธาตุลม” คือ ธูป และ “ธาตุไฟ” คือ เทียน

สิ่งสำคัญลำดับต่อมา คือ ควรบูชาให้ครบทั้ง 4 พระพักตร์ 4 ทิศ ขอพรให้ถูกหน้าทุกพระพักตร์ เพราะแต่ละพระพักตร์จะมีความหมายต่างกันและประทานพรที่แตกต่างกัน โดยเริ่มสักการะจากพระพักตร์แรกและเวียนขวามือของเรา “พระพักตร์แรก” ใช้ธูป 16 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด ประทานพรเกี่ยวกับเรื่องการงาน การเรียน สิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต การสอบ ขอเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งงานและความก้าวหน้าในชีวิต

“พระพักตร์ที่สอง” ใช้ธูป 36 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด ประทานพรเรื่องอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ เงินทอง บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ฯลฯ “พระพักตร์ที่สาม” ใช้ธูป 39 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด ประทานพรเรื่องสุขภาพ คู่ชีวิต ครอบครัว คู่สัญญา หุ้นส่วน ความมั่นคง ฯลฯ และ “พระพักตร์ที่สี่” ใช้ธูป 19 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด ประทานพรด้านโชคลาภ สิ่งที่ได้มาโดยบังเอิญ การขอกู้ยืมเงิน และเรื่องบุตร

คาถาบูชาพระพรหม (ท่องนะโม 3 จบ)

โอม ปะระเมสะนะมัสการัม องการะนิสสะวะรัง พรหมเรสสะยัม ภูปัสสะวะ วิษณุไวยะทานะโมโทติลูกปัม ทะระมายิกยานัง ยะไวยะลา คะมุลัมสะทานันตะระวิมุสะตินัน นะมัตเต นะมัตเตรจะ อะการัง ตะโถวาจะ เอตามาตาระยัต ตะมันตะรามา กัตถะนา รัมลา จะสะระวะปะติตัม สัมโภพะ กลโล ทิวะทิยัม มะตัมยะ

หรือ…โอม พรหมา ปฏิพาหายะ ทุติยัมปิ พรหมา ปฏิพาหายะ ตะติยัมปิ พรหมา ปฏิพาหายะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน