ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’ : สดจากหน้าพระ

โดย เชิด ขันตี ณ พล

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’ – นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม, พระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม, พระสุทธิธรรมโสภณ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม (ธ) นำส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน นิสิตนักศึกษา และประชาชน จ.มหาสารคาม ร่วมกันสืบสานประเพณีบุญซำฮะ ตามฮีต 12 ของชาวอีสาน เมื่อวันที่ 10-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าหอพระประธานกันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’

สำหรับคำว่า “ซำฮะ” เป็นภาษาไทยอีสานตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่า “ชำระ” หมายถึง ทำให้สะอาด ปราศจากมลทิน

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’

กิจกรรมช่วงวันที่ 10-12 มิ.ย. ประกอบพิธีรำบวงสรวงมเหศักดิ์หลักเมือง ช่วงเย็นเจริญพระพุทธมนต์พระสงฆ์ 69 รูป สวดชัยมงคลคาถา เจริญรัตนสูตร

วันที่ 13 มิ.ย. วันสุดท้าย ช่วงเช้าร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และเมื่อฉันเสร็จพระสงฆ์อนุโมทนาและประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้ร่วมพิธี จากนั้นเป็นพิธีปัดรังควาน โดยพระเทพ สิทธาจารย์ เป็นประธานประกอบพิธี

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’

ต่อมาผู้ร่วมพิธีและคณะสงฆ์เคลื่อนขบวนไปยังสี่แยกสี่มุมเมือง เพื่อนำสิ่งของหินกรวดทรายที่ผ่านการปลุกเสกในพิธีไปฝังป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในชุมชน ประกอบด้วย แยกแก่งเลิงจาน แยกบ้านหม้อ แยกไปบ้านท่าประทาย และแยกสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคาม เมื่อถึงจุดสี่แยกที่กำหนดพระสงฆ์ได้ประกอบพิธี ปัดรังควาน

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’

หลังเสร็จพิธี ผู้ร่วมพิธีจะนำกรวด หิน ทราย น้ำมนต์ ที่เตรียมมาร่วมในพิธีปัดรังควาน นำกลับไปประพรมบ้านเรือน ไร่นาหรือสถานที่ทำงานของตนเองเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล และในคราวเดียวกันบางหมู่บ้านก็จะร่วมใจกันทำความสะอาดหมู่บ้านสร้างความสมัครสมานสามัคคีแก่คนในชุมชน

นอกจากนี้ การทำบุญซำฮะปีนี้ยังมีขบวนฟ้อนรำ จากทุก 13 อำเภอ ร่วมรำฉลองเมืองมหาสารคาม ครบรอบ 154 ปี

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’

นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า “บุญซำฮะ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรก สิ่งอัปมงคลออกจากบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ชุมชน รวมทั้งออกจากร่างกาย ทำให้จิตใจสะอาด สดใส ในฮีตสิบสองตามประเพณีของชาวอีสาน กล่าวไว้ว่า เมื่อถึงเดือนเจ็ดให้พากันบูชาเทวดาอารักษ์หลักเมือง อีกทั้งมเหศักดิ์ เพื่อขอความคุ้มครองจากเทวดาอารักษ์ ให้ปกปักรักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีเหตุเภทภัยต่างๆ มากล้ำกราย ครั้นถึงวันทำบุญ ชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ จะพากันมารวมกันที่บริเวณศาลากลางบ้าน โดยนำดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำ ขันใส่กรวดทราย และฝ้ายผูกแขน มารวมกันยังบริเวณทำพิธี”

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’

ช่วงเย็น พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เช้าวันรุ่งขึ้น พุทธศาสนิกชนทุกภาคส่วนจะร่วมกันนำข้าวปลา อาหารมาทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ จะให้พรและรดน้ำมนต์ให้กับผู้มาร่วมงาน และทุกคนจะนำขันน้ำมนต์ ฝ้ายผูกแขน ขันกรวดทรายกลับไปที่บ้านเรือนของตนเอง เพื่อนำน้ำมนต์ไปประพรมให้แก่คนในครอบครัว บ้านเรือน สัตว์เลี้ยง

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’

ส่วนฝ้ายก็นำไปผูกแขนลูกหลานทุกคน เชื่อว่าจะนำความสุขและสิริมงคลมาสู่สมาชิกทุกคน และกรวดทรายนั้น จะนำไปหว่านรอบบริเวณบ้าน เรือกสวนไร่นา เพื่อขับไล่เสนียดจัญไร และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดสิ้นไป

ด้วยสาระสำคัญของประเพณีบุญซำฮะที่จัดทำขึ้นในเดือนเจ็ดดังกล่าว เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานบุญประเพณีนี้ให้อยู่คู่ชุมชนสืบไป จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับทุกภาคส่วน จึงมีแนวคิดในการสืบสานประเพณีบุญซำฮะขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการร่วมกันสร้างบุญกุศล ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ปัดรังควานสิ่งไม่ดีออกจากเมืองและบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อย ในคราวเดียวกันหลายหมู่บ้านก็ถือโอกาสที่มีชาวบ้านมารวมกันจำนวนมาก ร่วมกันพัฒนาถนนหนทางปัดกวาดทำความสะอาดหมู่บ้านให้เจริญหูเจริญตา

ชาวสารคามสืบสาน ประเพณี‘บุญซำฮะ’

ผลที่ได้ตามมา คือ เมื่อคนในชุมชนมี น้ำหนึ่งใจเดียวกันก็จะเกิดความรักความสามัคคีขึ้นภายในชุมชนนั้นๆ

บุญซำฮะ จึงเป็นบุญประเพณีที่ดีของชาวอีสาน สมควรที่ทุกภาคส่วนจะต้องอนุรักษ์และสืบสานเอาไว้ให้คงอยู่คู่กับสังคมสืบไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน