หลวงปู่ศุข พรหมรังสี วัดป่าหวาย จ.สิงห์บุรี

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

“หลวงปู่ศุข พรหมรังสี” หรือ “พระครูพรหมนครบวรราชมุนี” แห่งวัดป่าหวาย จ.สิงห์บุรี อดีตเจ้าคณะเมืองพรหมบุรี พระเถราจารย์ ยุคเก่า ที่ได้รับการยกย่องจากสาธุชน ให้เป็นพระเกจิผู้ทรงวิทยาคม

ด้วยความเป็นพระเถระยุคเก่ามาก ทำให้การบันทึกเกร็ดประวัติไว้ ค่อนข้างจะมีน้อย

เกิดเมื่อปี พ.ศ.2374 คนยุคเก่าเล่าลือกันว่าท่านเป็นพระเถระที่บวชมาตั้งแต่สามเณร

เมื่ออายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ต่อมาออกธุดงควัตรและศึกษาวิชาจากพระคณาจารย์ในป่าลึก

ครั้นเมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าหวาย จ.ลพบุรี ท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากญาติโยมเป็นอย่างยิ่ง

ได้รับการยกย่องในเรื่องวิทยาคมอันเข้มขลัง โดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยมสีผึ้งทาปากของท่านเป็นที่ขึ้นชื่อด้านเมตตามหานิยม

นอกจากสีผึ้งทาปากของหลวงปู่ศุข จะเด่นด้านเมตตา มหานิยมแล้ว ยังปรากฏอีกว่าเบี้ยแก้ของท่านขลังใช้แก้คุณไสย แม้กระทั่งอสรพิษร้ายที่กัดยังใช้ถอนพิษได้

กล่าวได้ว่า หลวงปู่ศุขมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ธนบุรี ผู้สร้างเหรียญ พ.ศ.2467 อันลือลั่น จนได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ของเหรียญชุดเบญจภาคียอดนิยม

เป็นพระคณาจารย์ที่มีพลังจิตสูง แม้แต่ไก่ป่าท่านยังเลี้ยงจนเชื่อง เวลาเช้าขณะท่านเดินออกบิณฑบาต ไก่ป่าที่ท่านเลี้ยงไว้จะเดินตามท่านไปเป็นฝูง เป็นภาพที่แปลกตาและพบเห็นได้ไม่ง่ายนัก

ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ที่ “พระครูพรหมนคร บวรราชมุนี ชินสีห์ภาณุวัฒน์ สังฆปาโมกข์’ ตำแหน่งเจ้าคณะเมืองพรหมบุรี ได้รับพระราชทานพัดยศพิเศษด้ามงาช้าง จากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พัดยศหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย เป็นพัดยศพิเศษด้ามงาช้างขาว โปรดเกล้าฯพระราชทานในตำแหน่งฝ่ายพระวิปัสสนาธุระ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระฝ่ายอรัญวาสี หรือพระป่าที่ปฏิบัติบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ

อีกทั้ง ท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย ปณฑิโต) ตำแหน่งพระวิปัสสนาธุระสูงสุดในยุคนั้น และเป็น เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ ยังให้ความเคารพนับถือ โดยมอบ รูปถ่ายของท่านไว้ประจำวัดป่าหวายเคียงคู่กับรูปถ่ายหลวงปู่ศุข

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ได้แก่ สีผึ้งมหาเสน่ห์ เบี้ยแก้ ตะกรุด และเหรียญรูปเหมือนตัวท่าน รุ่น พ.ศ.2465 ซึ่งเป็นเหรียญที่เก่าแก่และหายากที่สุด จัดเป็นสุดยอดเหรียญพระคณาจารย์ของเมืองสิงห์บุรี ราคาเช่าหากันในปัจจุบันค่อนข้างสูง อยู่ในระดับหลักหมื่นขึ้นไป ตามสภาพความสวยงามของเหรียญ

เหรียญหลวงปู่ศุข รุ่น พ.ศ.2465 เปี่ยมด้วยพุทธคุณยอดเยี่ยมทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และยังเยี่ยม ทางด้านเมตตามหานิยมอีกด้วย

อนึ่งทุกปี ที่วัดจักรวรรดิ ในช่วงปี พ.ศ.2460-2474 บรรดาพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานจะต้องมาทำวัตร กับหลวงพ่อพระมงคลทิพย์มุนี โดยได้นิมนต์หลวงปู่ศุข ร่วมงานพิธีเป็นประจำ

สำหรับวัดป่าหวาย ตั้งอยู่เลขที่ 83 บ้านโรงช้าง หมู่ที่ 1 ต.โรงช้าง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีบริเวณอาณาเขตพื้นที่วัดประมาณ 21 ไร่เศษ

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในราว ปีพ.ศ.2420 เดิมเรียกว่า วัดคงคาเดือด เพราะอยู่ริมแม่น้ำและถูก น้ำเซาะตลิ่งพังลึกล้ำเข้ามา ทำให้สภาพพื้นที่วัดลดลง แลดูไม่งดงาม ดังนั้น คณะมัคนายกวัดและชาวบ้าน ได้พร้อมใจกันที่จะพัฒนาวัดด้วยวิธีย้ายการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ไปปลูกในที่ดินที่มีผู้ศรัทธาบริจาคที่ดินคือ นายไล้ ชอบใช้ และนายเทียง ฉายวิโรจน์ ได้อุทิศที่ดินจำนวน 7 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินตั้งวัด ในปัจจุบัน

จากหลักฐานประวัติวัดป่าหวายได้กล่าวด้วย ว่า “สมภารรูปแรกของวัดป่าหวายคือ พระครูพรหมนครบวรราชมุนี (ศุข)” ดังนั้น การเปลี่ยนนามวัดคงคาเดือดมาเป็นชื่อวัดป่าหวาย น่าจะได้รับการเปลี่ยนชื่อในยุคหลวงปู่ศุข เป็นเจ้าอาวาสวัด เพราะในหนังสือทำเนียบสมณศักดิ์สังเขป ซึ่งพิมพ์ในปี พ.ศ.2465 (หน้า 40) ระบุไว้ชัดเจนว่า “พระครูพรหมนครบวรราชมุนี (ศุข) วัดป่าหวาย จังหวัดสิงห์บุรี (สำหรับอำเภอเมืองพรหม) พระครูรองเจ้าคณะจังหวัด”

มรณภาพในปี พ.ศ.2465 สิริอายุ 91 ปี พรรษา 71

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน