หลวงพ่อหอม รตินธโร สืบสายธรรมหลวงปู่ฝั้น

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

โดย ชนะ วสุรักคะ

หลวงพ่อหอม รตินธโร สืบสายธรรมหลวงปู่ฝั้น : อริยะโลกที่ 6 – “หลวงพ่อหอม รตินธโร” หรือ พระครูธรรมไตรสังวรกิจ เจ้าคณะตำบลกุสุมาลย์ (ธ) และเจ้าอาวาสวัดไตรคามวสี บ้านอีกุด ต.กุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร พระเกจิสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดัง ที่ชาว อ.กุสุมาลย์ และอำเภอใกล้เคียงให้ความเคารพเลื่อมใสศรัทธา

ท่านเป็นศิษย์สืบสายธรรม หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แม่ทัพธรรมภาคอีสาน ศิษย์เอก หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส แห่งวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

หลวงพ่อหอม รตินธโร

ปัจจุบันดำรงชีวิตอยู่ในวัย 59 ปี พรรษา 38

มีนามเดิมว่า ผจญ ใบแสน เกิดเมื่อ วันพุธที่ 1 มี.ค.2503 ปีชวด เป็นชาวบ้าน อีกุด ต.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร โดยกำเนิด บิดา-มารดา ชื่อ นายกาญจน์-นางพล ใบแสน เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องร่วมอุทร 5 คน

พ.ศ.2522 ขณะมีอายุ 19 ปี บรรพชาที่วัดป่าสันติวาส (ปัจจุบัน คือ วัดป่าสันติกุสุมาลย์) โดยมี หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส เป็นพระอุปัชฌาย์

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ที่สำนักเรียนวัดโพนธาราม อ.กุสุมาลย์

กระทั่งในปี พ.ศ.2524 ขณะอายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม โดยมี พระราชสุทธาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส เป็นพระกรรมวาจาจารย์

จากนั้นจำพรรษาที่วัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม นาน 2 ปี

ใฝ่รู้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท-เอก ตามลำดับ ที่สำนักเรียนวัดศรีเทพประดิษฐาราม จนจบในปี พ.ศ.2525

ต่อมาในปี พ.ศ.2527 เริ่มเดินธุดงค์ไป ที่วัดเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย จำพรรษาที่วัดแห่งนี้นาน 5-6 ปี ศึกษาพระธรรมวินัยกับ พระครูศรีคุณากร เจ้าคณะอำเภอเมือง (ธ) ศึกษาข้อวัตรกับ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่แว่น ธนปาโล ก่อนจะไปจำพรรษาที่วัดบ้านห้วยบง จ.พะเยา อีก 2 ปี

จากนั้นจึงเดินธุดงค์ที่ จ.นราธิวาส แล้ววกกลับมาจำพรรษาที่ จ.เลย ศึกษารับฟังธรรมะจากหลวงปู่ชอบ ฐานสโม จึงย้อนกลับไป จำพรรษาที่ จ.พะเยา เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา จ.เชียงราย จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เชียงใหม่ อีกรอบ

พ.ศ.2533 จึงเดินทางมาสู่มาตุภูมิ พัฒนาป่าช้าโคกกลางและป่าชุมชนรกร้าง เนื้อที่กว่า 100 ไร่ให้เป็นสำนักสงฆ์ สร้างกุฏิกระต๊อบไม้ 2 หลังเปลี่ยนมามุงสังกะสี สร้างศาลาอเนกประสงค์ พัฒนาเรื่อยมานาน 4 ปี ก่อนซื้อที่เพิ่มอีก 10 ไร่ สร้างอุโบสถใช้งบ 5 ล้านบาท ก่อนตั้งวัดในปี 2557 จนมีเสนาสนะและถาวรวัตถุไว้ประกอบกิจของสงฆ์

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2538 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสไตรคามวสี และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลกุสุมาลย์ ปกครองคณะสงฆ์ (ธ) ในเขต อ.กุสุมาลย์ ตามลำดับ จวบจนถึงปัจจุบัน

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2546 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่พระครูธรรมไตรสังวรกิจ

มักกล่าวปรารภกับลูกศิษย์ว่า “วัดป่าก็เหมือนบ้านของเหล่าสัตว์และสิ่งมีชีวิตจะได้อาศัย จึงมีดำริจะสร้างกำแพงรอบวัดขึ้น เพื่อรักษาธรรมชาติและผืนป่าที่คงความอุดมสมบูรณ์มากถึง 110 ไร่ เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าที่หายากและได้มีที่หลบภัย”

สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางที่ได้รับความนิยมจากบรรดาคณะศิษย์ โดยเฉพาะตะกรุด ได้รับการกล่าวขานว่ามีประสบการณ์ โดยหลวงพ่อหอมกล่าวเตือนสติไว้ด้วยว่า “วัตถุมงคลที่ได้สร้างแล้ว ถ้าเกิดประโยชน์และช่วยเหลือผู้คนได้ โดยเฉพาะด้านจิตใจ ไว้ระลึกเตือนสติและยั้งคิดก่อนกระทำเสมอ”

นอกจากเป็นพระนักพัฒนาแล้ว ยังเป็นพระอนุรักษ์ผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน