หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

หลวงปู่จันทร์ – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เราจะมาคุยถึงพระเกจิอาจารย์ของจังหวัดราชบุรี ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสก พระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ ปี พ.ศ.2481
ในพิธีครั้งนี้พระเกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์มาร่วมในพิธี ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เรืองวิทยาคมทั้งสิ้น พระเกจิอาจารย์ที่ผมกล่าวถึงก็คือ หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ครับ
พระครูธรรมสุนทร (จันทร์) วัดบ้านยาง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2419 ที่หมู่บ้านริมคลองเหนือ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โยมบิดาชื่อ จีน โยมมารดาชื่อ เคิ้ว นามสกุล จีนเครือ
ชีวิตในวัยเด็กก็เหมือนกับเด็กทั่วๆ ไป ใช้ชีวิตอย่างอิสระ หน้าที่ของท่านคือ ต้อนฝูงควายฝูงใหญ่ไปเลี้ยง อุปนิสัยเป็นคนจริง พูดเสียงดัง และค่อนข้างจะเป็นคนเขื่องอยู่ไม่น้อย เป็นหัวหน้าในกลุ่มเพื่อนฝูง
พออายุครบบวชในปี พ.ศ.2440 ก็ได้อุปสมบทที่ วัดหนองเสือ บ้านโป่ง โดยมี พระอธิการดำ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดี (จันทรโชติ) วัดบ้านยาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการอินทร์ วัดบ้านยางนอก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่อบวชแล้วท่านได้ศึกษาอักขระทั้งขอมและไทย ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด เริ่มศึกษาพระปริยัติและปฏิบัติกับพระอธิการดี จนมีความรู้แตกฉาน
และทางด้านพุทธาคมนั้นก็ได้ศึกษากับ พระอธิการดี และพระอธิการอินทร์ วัดบ้านยางนอกอีกด้วย
ต่อมาท่านก็ได้สร้างพระปิดตาออกมาแจกกับชาวบ้านลูกศิษย์ลูกหา จนปรากฏในทางคงกระพัน เล่าลือกันมาก ในราวปี พ.ศ.2466 พระอธิการดี เจ้าอาวาส ถึงกาลมรณภาพ ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน
จนกระทั่งปี พ.ศ.2475 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2475 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล พ.ศ.2481 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูธรรมสุนทร หลวงปู่จันทร์ มรณภาพในปี พ.ศ.2494 สิริอายุได้ 76 ปี พรรษาที่ 54

หลวงปู่จันทร์

ในครั้งที่ หลวงปู่จันทร์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2481 ที่ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ทางคณะศิษย์ได้จัดงานแสดงมุทิตาจิต และสร้างเหรียญรูปท่านแจกเป็นที่ระลึก มีทั้งเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง

นอกจากนี้ ท่านก็ยังได้สร้าง พระปิดตา ไว้หลายรุ่นหลายแบบ เช่น พระปิดตาเนื้อเมฆพัด เนื้อตะกั่ว เนื้อชิน เนื้อพลวง เนื้อทองแดง และเนื้อผง เหตุที่สร้างไว้หลายเนื้อนั้น ก็เนื่องจากว่า ท่านสร้างไว้หลายครั้งด้วยกัน มีประสบการณ์มากมายที่ชาวบ้านแถบนั้นประสบมา ทั้งแคล้วคลาด ทั้งอยู่ยงคงกระพันชาตรี

ครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา ท่านก็สร้างแจกทหารราชบุรีและจากที่อื่นๆ ที่เดินทางมาขอพรจากท่านเป็นจำนวนมาก การสร้างพระของท่านนั้นก็สร้างกันในวัด พระเณรชาวบ้านช่วยกันเทหลอม แล้วช่วยกันตบแต่ง หลวงปู่จะลงอักขระแล้วปลุกเสกให้อีกครั้ง

วันนี้ผมได้นำรูปเหรียญรุ่นแรกเนื้อทองแดงของท่านมาให้ชม ซึ่งปัจจุบันหายากครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน