หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ วัดยางสีสุราช มหาสารคาม

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ : พระครูภัทรสารวิสุทธิ์หรือหลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดยางสี สุราช อดีตรักษาการเจ้าคณะอำเภอยางสี สุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง สืบสายธรรมจากหลวงปู่จันดา วัดทองนพคุณ อ.พยัคฆภูมิพิสัย บูรพาจารย์ชื่อดังของมหาสารคาม

เกิดในสกุล ปินะถา เมื่อปี พ..2445 ที่บ้านสนามชัย อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม

หลังจากท่านเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้ลาออกมาช่วยงานครอบครัวทำไร่ทำนาตามวิถีชีวิตของชาวอีสานด้วยความขยันขันแข็ง

เข้าพิธีอุปสมบท ที่อุโบสถวัดยางสี สุราช อ.ยางสีสุราช โดยมีพระครูจันทรสีตลคุณ (หลวงปู่จันดา) วัดทองนพคุณ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นพระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อดำ วัดหนองหิน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

จำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่สำนักเรียนวัดบ้านหนองกุง อ.นาเชือก มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีโทเอก ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังศึกษาการเทศน์ปุจฉาวิปัสสนา จากหลวงปู่รอด พรหมสโร วัดบ้านหนองกุง จนมีความชำนาญ

อีกทั้งยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม ขณะนั้นหลวงปู่จันดา เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ มีชื่อเสียงในฐานะพระเกจิชื่อดัง ท่านจึงขอฝากตัวศึกษาวิทยาคม

ซึ่งหลวงปู่จันดา เมตตาถ่ายทอดวิทยาคมให้จนหมดสิ้น รวมทั้งแนะนำการวิปัสสนากัมมัฏฐานและยังสอนอ่านเขียนอักษรขอม อักษรธรรม ทำให้หลวงปู่ตุ่น มีความรู้ในการอ่านเขียนอักขระโบราณอีกแขนงหนึ่ง

ต่อมาวัดยางสีสุราชขาดแคลนพระผู้ใหญ่ที่จะพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง จึงนิมนต์ท่านให้มาจำพรรษา

อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ต่อมาได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

ต่อมาตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอยางสีสุราชว่างลง จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าคณะอำเภอยางสีสุราช และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามที่ พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ในแต่ละวันมีผู้เข้ามากราบนมัสการ รับฟังธรรม และประพรมน้ำพระพุทธมนต์เสริมความเป็นสิริมงคล อย่างไม่ขาดสาย

สำหรับปัจจัยที่ได้จากการบริจาค นำมาพัฒนาวัดยางสีสุราช ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ อาคารเรียนพระปริยัติธรรม กำแพงแก้ว ศาลาการเปรียญ เป็นต้น รวมทั้งบริจาคช่วยสาธารณกุศลช่วยชุมชนท้องถิ่น

วัตรปฏิบัติอีกอย่างคือ ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดยางสีสุราชและรักษาการเจ้าคณะอำเภอยางสีสุราช ท่านจะปฏิบัติหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์อย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างให้คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองปฏิบัติตาม รวมทั้งออกเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ

อบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชนตลอดปีและให้ความสำคัญการศึกษาพระปริยัติธรรม เนื่องเพราะการบวชเรียนเป็นทางเลือกหนึ่งของคนยากคนจนที่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้น หลวงปู่ตุ่น รับหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรม หากตั้งใจศึกษาเล่าเรียนท่านจะมีทุนการศึกษาให้พร้อมกับสนับสนุนให้เรียนสูงยิ่งขึ้น ทำให้สำนักเรียนวัดยางสีสุราช ในยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ละปีมี พระภิกษุสามเณรเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก

สำหรับหลักธรรมคำสอนที่หลวงปู่ตุ่น พร่ำสอนญาติโยมมาโดยตลอดเป็นเรื่องของความไม่เที่ยงของสังขาร สรรพสิ่งในโลกมีเกิด มีเสื่อม มีดับ แต่เมื่อเกิดเป็นมนุษย์สุดแสนที่จะประเสริฐ ดังนั้น ควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อปี พ..2530 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 65

เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน