พ่อท่านปลอด ติสสโร วัดนาเขลียง จ.นครศรีฯ

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

พ่อท่านปลอด ติสสโร วัดนาเขลียง – “หลวงพ่อปลอด ติสสโร” หรือที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “พ่อท่านปลอด” วัดนาเขลียง ต.นาเขลียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช

เป็นพระเกจิชื่อดังที่มีความรู้ด้านวิทยาคม เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านเมื่อยามเดือดร้อน เป็นที่เคารพนับถือของชาวนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมาก ท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะปกครองอำเภอฉวาง, ช้างกลาง, ถ้ำพรรณรา, นาบอน และทุ่งใหญ่

เกิดเมื่อปี พ.ศ.2410 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ณ บ้านเกาะใหญ่ อ.เมือง จ.สงขลา

ในช่วงวัยเยาว์เล่าเรียนหนังสือที่บ้านพ่อตาขุน (พ่อเฒ่าบ้าน ในสมัยนั้น)

เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดพังตรี โดยมีหลวงพ่อเสน เจ้าอาวาสวัดพังตรี เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อแก้ว เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.ระวะ อ.ระโนด เป็นพระกรรมวาจาจารย์

จำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้งกับหลวงพ่อแก้วเป็นเวลาถึง 15 พรรษา ซึ่งหลวงพ่อแก้วเป็นพระที่มีความรู้ทางวิทยาคมต่างๆ เป็นที่เคารพนับถือของชาว ต.ระวะ ตลอดจนตำบลใกล้เคียงเป็นอันมาก

ศึกษาธรรมะและวิชาทางวิทยาคม ตลอดจนวิชาการต่างๆ จากหลวงพ่อแก้วจนมีความชำนาญ

ก่อนที่ออกจากวัดแจ้งเมื่ออายุประมาณ 35 ปี เดินทางมายัง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช อยู่จำพรรษาที่วัดบางทองคำ ซึ่งขณะนั้นมีหลวงพ่อนาคเป็นเจ้าอาวาส

ต่อมาเดินทางไปยังวัดกะเบียดกับพวกอีก 5 คน แต่วัดกะเบียดไม่มีเรือ ได้ไปพบกับหลวงพ่อบัว เจ้าอาวาสวัดนาเขลียง ได้เรือชื่อพยอมไป 1 ลำ พาออกเดินทางไปตามคลองแม่น้ำตาปี ออกบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เลียบฝั่งไปถึงสงขลา เอาเรือไปแข่งกับวัดเนินหนองหงส์แต่ไม่ชนะการแข่งขัน

ภายหลังเดินทางกลับไปอยู่วัดนาเขลียงอีกครั้งหนึ่ง ได้รู้จักกับหมื่นณรงค์ จงจิตร (หรือขุนพิปูนเปรมประดิษฐ์) กำนันตำบลพิปูนและพ่อท่านแดง (พระครูรังสรรค์) เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เมื่ออายุประมาณ 37 ปี

ประมาณปี พ.ศ.2451 หลวงพ่อบัว (เจ้าอาวาสในขณะนั้น) ได้มรณภาพ ชาวบ้านบ้านนาเขลียงจึงได้นิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสนับแต่นั้นมา

สำหรับวัดนาเขลียงมีความเป็นมาเก่าแก่มาก ในอดีตมีผู้คนอพยพเพื่อหนีภัยสงครามและต้องการหาที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้มาพบกับแหล่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้นานาชนิด

ที่พบมากที่สุดคือ ต้นเขลียง ชาวบ้านจึงได้ เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านนาเขลียง” เป็นที่ราบสูงสลับเนินดิน ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำตาปีทางทิศตะวันตก มีฝนตกชุกตลอดปี ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนทำนา

ต่อมาคนในชุมชนมีความประสงค์ในการจัดสร้างวัดเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยว เรียนรู้ ประกอบกิจทางศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษ

ในปี พ.ศ.2336 ได้ก่อตั้ง “วัดนาเขลียง” มีอธิการองค์แรกคือ หลวงพ่อด้วน หลวงพ่อหมวก หลวงพ่อบัว หลวงพ่อปลอด และถัดมาอีก 2-3 องค์จนถึงปัจจุบัน

กล่าวได้ว่าวัดนาเขลียงในยุคสมัยที่หลวงพ่อปลอดเป็นเจ้าอาวาสถือเป็นยุคที่ชุมชนเจริญรุ่งเรืองมาก

ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา พระเครื่องวัตถุมงคลที่รับจากมือหลวงพ่อปลอด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องราง ผ้ายันต์ ตะกรุด และเหรียญพ่อท่านปลอดรุ่นแรกที่สร้างขึ้นมาในปี 2482 จัดเป็นสุดยอดปรารถนาของบรรดานักสะสมนิยมพระเครื่องทั้งสิ้น สามารถปกป้องคุ้มครองผู้ที่พกพาพระเครื่องหลวงพ่อปลอด วัดนาเขลียง ให้แคล้วคลาดอันตรายต่างๆ จนถึงประสบการณ์ด้านคงกระพัน

มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อปีพ.ศ.2482 สิริอายุได้ 72 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน