สิ้น‘หลวงปู่สอ ขันติโก’ พระเกจิฯอายุยืน-114 ปี

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

สิ้น‘หลวงปู่สอ ขันติโก’ พระเกจิฯอายุยืน-114 ปี – “หลวงปู่สอ ขันติโก” วัดโพธิ์ศรี ต.รามราช อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พระเถระที่เคร่งครัดและเปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นที่พึ่งของชาวบ้านและสาธุชนโดยทั่วไป มีจิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตา อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

ท่านเป็นศิษย์สืบสายธรรม หลวงปู่ สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งลุ่มน้ำสองฝั่งโขงไทย-ลาว พระเกจิผู้นำในการสร้างพระธาตุท่าอุเทน และพระธาตุบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี อยู่ในศรัทธาของสาธุชนเขต จ.นครพนม และพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้ง ถือได้ว่าเป็นพระเถระที่อายุพรรษามากที่สุดรูปหนึ่งของคณะสงฆ์เมืองนครพนม

ท่านมีนามเดิมว่า สอ แก้วดี ท่านเกิดในตระกูลชาวนา เมื่อวันจันทร์ ปีมะเส็ง พ.ศ.2448 ตามคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิดหลวงปู่ระบุว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2448 ปีมะเส็ง ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นชาวบ้าน บ้านบะหว้า หมู่ 10 ต.รามราช อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม บิดาชื่อ นายเพ็ง เป็นชาวลาว มารดาชื่อ นางจันทร์ ครอบครัวมีพี่น้องร่วมกัน 6 คน

เมื่อแรกเกิด แม่ของท่านบอกว่า บุตรชายมีสายรกพันคอ จะได้บวช

ส่วนชีวิตในวัยเด็ก เป็นคนที่เรียบง่าย อ่อนน้อม ถ่อมตน นิสัยชอบเข้าวัดฟังธรรม ผิดกับเด็กอื่น วัยเดียวกัน

ท่านมีโอกาสเข้ากราบนมัสการ หลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปัญโณ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงขอติดตามไปยังภูเขาควายฝั่งลาวและได้บวชเป็นสามเณร คอยรับใช้อุปัฏฐาก หลวงปู่สีทัตถ์ เล่าเรียนสรรพวิชาต่างๆ จากท่าน

กระทั่งอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีหลวงปู่สีทัตถ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังอุปสมบท ท่านอยู่รับใช้อุปัฏฐากหลวงปู่สีทัตถ์เป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงได้ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ตามป่าเขา ถ้ำภูผาต่างๆ จนได้ทราบข่าวอาการป่วยของโยมแม่ ในขณะนั้น มีอายุ 32 ปี พรรษา 12 จึงรีบเดินทางมาดูแลแม่ผู้ให้กำเนิด ลาสิกขาออกมาดูแลแม่จนถึงวาระสุดท้าย

ในเวลาต่อมา จึงขอเข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง

เป็นพระที่เคร่งครัดในธรรมวินัย วัตรปฏิบัติดี ด้วยความที่มีจิตใจแน่วแน่ในการแสวงหาทางหลุดพ้นตามรอยตถาคต จึงได้ออกเดินธุดงค์ เสริมสร้างบารมีธรรมไปยังสถานที่ต่างๆ ตามป่าเขาในเขตพื้นที่ภาคอีสาน

ครั้งนั้นออกธุดงค์ข้ามไปยังฝั่งลาว บ้านบุ่ง ท่าน จำพรรษาเพื่อพัฒนาวัดบ้านบุ่งอยู่หลายปี ก่อนออกเดินทางไปพบหลวงปู่สีทัตถ์อีกครั้ง เฝ้าอุปัฏฐากอยู่กับท่าน จนกระทั่ง หลวงปู่สีทัตถ์ มรณภาพ

หลังจากนั้น กลับมาที่ฝั่งไทย จำพรรษาที่วัด โพธิ์ศรี บ้านบะหว้า ต.รามราช ในขณะนั้นยังมีครูบาอาจารย์ที่เป็นทั้งสหธรรมิกและศิษย์ผู้พี่หลายท่าน อาทิ หลวงปู่สนธิ์ วัดท่าดอกแก้ว ศิษย์ผู้ใหญ่ในหลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน ซึ่งมีศักดิ์เป็นศิษย์ผู้พี่ของท่าน, หลวงปู่คาร กันธิโย, หลวงปู่จันทร์ เขมิโย วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ขอศึกษากับท่านอยู่เป็นระยะ

เป็นพระเกจิที่มีอายุยืนรูปหนึ่งในภาคอีสาน ที่ยังดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย แม้อายุจะล่วงมาถึง 113 ปี แต่สายตายังมองเห็นชัด หูได้ยินเป็นปกติ สนทนา ได้สบาย ฉันภัตตาหารเนื้อปลา ยอดผักสด กล้วยน้ำว้าวันละ 1 ลูก

ด้านวัตถุมงคลนั้นไม่ได้จัดสร้างบ่อยนัก นานครั้งในวาระพิเศษ จึงจะมีการจัดสร้างสักครั้งหนึ่ง ท่านจะเน้นคำสอนให้ลูกศิษย์นำไปปฏิบัติมากกว่า แต่จะอนุญาตให้ศิษย์ใกล้ชิดสร้างขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้วัตถุมงคลของท่านมีจำนวนไม่มากนัก แต่ปรากฏว่าได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ช่วงปัจฉิมวัย หลวงปู่สออาพาธมานานหลายเดือน คณะแพทย์จาก ร.พ.นครพนม และ ร.พ.ท่าอุเทน เข้ารักษาอาการอาพาธอย่างใกล้ชิด

ต่อมามีอาการปอดติดเชื้อ ความดันลดลง กระทั่ง ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 18.12 น. วันที่ 6 ก.ค.2562 สิริอายุ 114 ปี พรรษา 94

สร้างความเศร้าสลดอาลัยยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน