หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม ซับตะเคียน เพชรบูรณ์

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม ซับตะเคียน เพชรบูรณ์ – พระอธิการวิชัยรัตน์ ฐิตธัมโม หรือที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักดีในนาม “หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม” เจ้าอาวาสวัดซับตะเคียน ต.ท่าด้วง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เป็นพระเกจิอาจารย์ศิษย์เอก สืบสายวิทยาคมจากพระครูวิชิตพัชราจารย์ หรือ หลวงพ่อทบ วัดช้างเผือก อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งเพชรบูรณ์

ถือกำเนิดในสกุล ท่อนทอง เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2464 ที่บ้านท่ามะทัน ต.ท่าอีบุญ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์

อายุ 12 ปี บิดาถึงแก่กรรม จึงบรรพชาบวชหน้าไฟ แต่ด้วยความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า แม้จะเสร็จงานศพบิดา แต่ไม่ยินยอมลาสึก

ต่อมา ได้ทราบถึงกิตติศัพท์หลวงพ่อทบ วัดพระพุทธบาท อ.ชนแดน เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีประชาชนเคารพนับถือ จึงเกิดศรัทธา เดินทางจากบ้านเกิดไปยัง อ.ชนแดน เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์อยู่รับใช้อุปัฏฐาก

หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม ซับตะเคียน เพชรบูรณ์

ด้วยความเมตตาหลวงพ่อทบ จึงได้ถ่ายทอดสรรพวิชาคาถา การทำตะกรุดโทน ลงเลขยันต์คาถา ผ้ายันต์ และได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและกำหนดจิต มีความรู้แก่กล้าตามลำดับ สามารถเสกข้าวสารให้ไก่กิน และศึกษาเรียนรู้ในการจัดสร้างพระกริ่ง หล่อ ตามประเพณีโบราณ

ครั้นอายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดศรีมงคล อ.หล่มสัก เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2486 มีพระมหาหยวก เจ้าคณะอำเภอหล่มสัก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการคำปัน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการวันดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า ฐิตธัมโม หมายความว่า ผู้มีจิตใจตั้งมั่นในธรรม

อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ 2 พรรษา จึงได้กราบลา เดินทางไปจำพรรษายังวัดชนแดน เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมและปฏิบัติกัมมัฏฐานจากหลวงพ่อทบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อการปฏิบัติธรรมแก่กล้า ท่านได้กราบลาหลวงพ่อทบ ออกเดินท่องธุดงควัตรไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

พ.ศ.2486 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลท่าอีบุญ ปกครองพระสงฆ์-สามเณร ได้ระยะหนึ่ง เกิดความเบื่อหน่าย จึงได้ขอลาออก และออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ อาทิ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ประเทศเขมร

ตลอดระยะเวลาในการถือธุดงควัตร ได้สนทนาธรรมกับพระสายวัดป่าหลายรูป และศึกษาไสยเวทจากอาจารย์เขมรและลาวหลายรูป

พ.ศ.2517 เดินธุดงค์ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ มุ่งหน้าขึ้นทิศตะวันออก ในที่สุด ได้เดินทางมายังบ้านท่าด้วง เล็งเห็นความเจริญที่จะเกิดขึ้นแก่หมู่บ้านนี้ในอนาคต ประกอบกับมีป่าไม้ แหล่งน้ำไหลผ่าน ท่านจึงหยุดธุดงค์ และชักชวนชาวบ้าน สร้างวัดขึ้นที่หมู่บ้านซับตะเคียน

หลวงปู่ขุ้ย อยู่จำพรรษาชักชวนชาวบ้านเข้าวัด ฟังธรรม รักษาศีล จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้าน รวมทั้งได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดซับตะเคียนแห่งนี้

ด้านวัตถุมงคล ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อทบ บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ที่รู้ในกิตติศัพท์ด้านวิทยาคม จึงได้ขอร้องให้ท่านจัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อนำเงินมาจัดสร้างเสนาสนะ ศาลา อุโบสถ

วัตถุมงคลพุทธคุณเด่นรอบด้าน จึงมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสไปขอบูชามามากมาย จนชื่อเสียงโด่งดังไปในหลายจังหวัด

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงคือ ตะกรุดโทน ตะกรุด 9 ชั้น รูปหล่อลอยองค์ และอีกหลายรุ่น วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมีผู้มาขอบูชาหมดไปในเวลาไม่นาน และผู้ที่เช่าหาวัตถุมงคลของท่านต่างมีประสบการณ์แคล้วคลาดต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ ยังมีกริ่งเพชรกลับ ที่สร้างขึ้นตามตำรับโบราณ ที่ร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อทบ ได้รับความนิยมสูง จนกลายเป็นของหายาก

ในด้านการเผยแผ่ธรรม หลวงปู่ขุ้ยเป็นพระที่ทันสมัย ใช้ธรรมะสั่งสอนชาวบ้าน ให้รู้จักทำมาหากินด้วยความสุจริต มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร มิให้ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข ใช้ชีวิตอย่างสมถะ และพอเพียง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หลวงปู่ขุ้ย ได้สั่งสอนให้ชาวบ้านยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามศีล 5 ศีล 8 หรืออุโบสถศีล อย่างเคร่งครัด ให้เป็นคนคิดดี ทำดี พูดดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ด้วยสภาพสังขารที่ร่วงโรยไปตามวัย วันที่ 26 ส.ค.2554 หลวงปู่ขุ้ย มรณภาพด้วยอาการอันสงบ

สิริอายุได้ 90 ปี พรรษา 68

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน