หลวงปู่หิน เขมิโก วัดอัมพวัน สารคาม

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

โดย เชิด ขันตี ณ พล

หลวงปู่หิน เขมิโก วัดอัมพวัน สารคาม – “หลวงปู่หิน เขมิโก” อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน บ้านดอนบม ต.หนองจิก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม อยู่ในศรัทธาของพุทธศาสนิกในพื้นที่อย่างยาวนานตราบจนปัจจุบัน

หลวงปู่หิน เขมิโก

เกิดในสกุล อุทัยมา ที่บ้านหนองคู ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.มหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ.2451 เป็นบุตรคนที่สาม บิดา-มารดา ชื่อ นายคำภา และนางมล อุทัยมา ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

ช่วงวัยเด็กจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน

อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ.2471 อุปสมบทที่อุโบสถวัดบ้านหัวหนอง ต.ดอนหว่าน อ.เมือง จ.มหาสารคาม โดยมี เจ้าอธิการเนียม พุทธสโร วัดศรีบุญเรือง ต.ดอนหว่าน เป็นพระอุปัชฌาย์

จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหนองคู ศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ จากสำนักเรียนวัดบ้านหนองคู

ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนาขามเตี้ย อ.พล จ.ขอนแก่น ด้วยความเป็นพระหนุ่มไฟแรง ท่านมักออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาหลายแห่งในภาคอีสานและข้ามเข้าเขตประเทศกัมพูชา พร้อมกับฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ชาวกัมพูชา พร้อมกับเรียนวิชาสมุนไพรอีกแขนงหนึ่ง

พ.ศ.2490 มีความตั้งใจเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดบ้านหนองคู บ้านเกิด ระหว่างทางท่านได้แวะเยี่ยมพี่ชายที่มาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ที่บ้านดอนบม ต.หนองจิก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม บรรดาญาติโยมชาวบ้านดอนบมเห็นว่าท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี จึงได้กราบนิมนต์ให้หลวงปู่หินอยู่จำพรรษาที่วัดอัมพวันบ้านดอนบม

โดยรับนิมนต์และจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดแห่งนี้ ตราบจนวาระสุดท้าย

ช่วงที่จำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวัน วัตรปฏิบัติอย่างหนึ่งคือ จะตื่นจากการจำวัดประมาณ 2 นาฬิกาของทุกคืน พร้อมกับเดินจงกรมรอบกุฏิที่พักจนถึงรุ่งเช้า จากนั้นจึงจะออกไปรับบิณฑบาต

นอกจากนี้ ในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาทุกปียังออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน เนื่องจากท่านชมชอบความสงบเงียบของป่าเขาเหมาะกับการ ปฏิบัติธรรม แสวงหาความหลุดพ้นตามรอยพระตถาคต

จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของญาติโยมในวงกว้าง ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคล ตะกรุด และผ้ายันต์ที่เข้มขลังจากหลวงปู่อย่างล้นหลาม

วัตถุมงคลมีพุทธคุณเด่นด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม

มักพร่ำสอนญาติโยมอยู่เสมอว่า ให้ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ต้องรักษาศีล 5 ให้ได้ชีวิตจึงจะพานพบแต่ความสุข

นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ได้รับการบริจาคจะนำไปพัฒนาวัดอัมพวันให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ กำแพงแก้ว เป็นต้น ทำให้วัดแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพัฒนาบรรยากาศภายในบริเวณวัด ด้วยความร่วมมือจากญาติโยมปลูกต้นไม้ไว้จำนวนมาก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมยิ่ง

ส่วนความรู้ด้านสมุนไพรสามารถช่วยชีวิตชาวบ้านได้มาก สมัยนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งบ้านใกล้และไกล หากเกิดเจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาสมุนไพรของท่าน โดยที่หลวงปู่ไม่ได้เรียกเก็บเงินค่ารักษาแต่อย่างใด

ด้านตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์ ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน

ด้วยความตรากตรำ หลวงปู่หินอาพาธบ่อยครั้ง แต่ท่านไม่เคยปริปากให้ศิษยานุศิษย์ รวมทั้งญาติโยมทราบเพราะท่านเห็นว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติของสรรพสัตว์โลก

สุดท้ายมรณภาพอย่างสงบ ในปี พ.ศ.2522 สิริอายุ 71 ปี พรรษา 51

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน