พระรอดกรุวัดมหาวัน : ชมรมพระเครื่อง

พระรอดกรุวัดมหาวัน : ชมรมพระเครื่อง

พระรอดกรุวัดมหาวัน : ชมรมพระเครื่อง – พระรอดกรุวัดมหาวัน ลำพูน เป็นพระเครื่องที่อยู่ในชุด เบญจภาคี และมีอายุเก่าแก่ที่สุดในพระชุดนี้ มีบางท่านกำหนดอายุของพระรอดไว้แตกต่างกัน ซึ่งเรื่องของโบราณคดีนั้นละเอียดอ่อนมาก ต้องศึกษาอย่างละเอียด ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ พงศาวดารและศิลปะ เราคงจะไม่พูดถึงเรื่องนี้มากนัก เพราะถึงอย่างไรพระรอดกรุนี้ก็มีอายุมากที่สุดในพระชุดเบญจภาคีอยู่ดี

เรามาพูดถึงกำเนิดของเมืองหริภุญชัยที่พบพระรอดและวัดที่พบพระรอดกันดีกว่า ซึ่งผมจะไม่พูดถึงปีพ.ศ. เนื่องจากอาจจะมีความขัดแย้งกันอยู่ เอาเฉพาะเรื่องราวจากพงศาวดารโยนก ชินกาลมาลินี และจามเทวีวงศ์ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า มีฤๅษีอยู่ 5 ตน ที่มีความเกี่ยวพันกับเมืองนี้ คือ

พระรอดกรุวัดมหาวัน : ชมรมพระเครื่อง

1.สุเทวฤๅษี พำนักอยู่ ณ อุฉุบรรพต คือดอยอ้อม หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “ดอยสุเทพ” ตามชื่อพระฤๅษี

2.สุกกทันตฤๅษี อยู่ที่ดอยธัมมิก เมืองละโว้ คือเขาสมอคอน

3.สุพรหมฤๅษี พำนักอยู่ที่สุภบรรพต (ดอยงาม) ริมฝั่งน้ำวัง กะนที คือแม่น้ำวัง จังหวัดลำปาง

4.สุมณนารทะฤๅษี พระฤๅษีตนนี้นับว่าสำคัญที่สุด พำนักอยู่ที่ดอยอินทนนท์

5.อนุสิษฏฤๅษี พำนักอยู่ที่เขาหลวง สวรรคโลก

พระฤๅษี 4 ตนแรกได้ปรึกษาหารือกันว่าจะสร้างเมืองเมืองหนึ่งขึ้นมา โดยให้ไปขอผังเมืองจากอนุสิษฏฤๅษี ซึ่งอนุสิษฏฤๅษีก็ได้ส่งกาบหอย ซึ่งมีลักษณะเป็นวงรูปไข่ (เมืองที่มีอายุการสร้างก่อนสมัยขอมจะเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้นั้นจะมีสัณฐานเช่นนี้ เช่น เมืองในสมัยอาณาจักรทวารวดี เป็นต้น เนื่องจากขอมเป็นชาติแรกในสุวรรณภูมิที่ออกแบบผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม) พระฤๅษีจึงตกลงกันว่าจะสร้างผังเมืองตามนั้น โดยพระสุเทวฤๅษีได้ปักไม้เท้าลงให้เป็นศูนย์กลางของพระนคร อยู่ตรงคณะสะดือเมือง ของวัดพระบรมธาตุฯ และก็สร้างเมืองตามรูปแบบ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเมืองลำพูนเก่า หรือเมืองหริภุญชัยนั้นมีรูปทรงสัณฐานเป็นรูปไข่แบบนี้

เมื่อสร้างหริภุญชัยนครเสร็จแล้ว เหล่าฤๅษีจึงให้ควิยะบุรุษไปเป็นทูตทูลขอพระนางจามเทวี พระราชธิดาพระเจ้ากรุงละวะปุระ (เมืองละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเมืองก่อนที่ขอมจะมีอำนาจปกครอง) มาครองเมือง ซึ่งพระฤๅษีทั้ง 4 ตนได้ปรึกษากันดีแล้ว เห็นว่าพระนางจามเทวีเป็นกุลสตรีอันประเสริฐ เจริญด้วยศีลและปรีชาฉลาด พระเจ้ากรุงละวะปุระทรงถามความสมัครพระทัยของพระราชธิดา ซึ่งพระองค์ก็ทรงสนอง พระราชโองการ ขณะนั้นพระนางทรงพระครรภ์ได้ 3 เดือน

พระนางจามเทวีเสด็จออกจากกรุงละวะปุระโดยพระนางทูลขอพระราชทานพระไตรปิฎก สมณชีพราหมณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ โหราจารย์ แพทย์ สถาปัตยกร วิศวกร นักประติมากรรม และเศรษฐีวาณิช อย่างละ 500 พร้อมด้วยเครื่องราชูปโภค บริวารหมู่โยธาพลากร พร้อมด้วยพาหนะครบถ้วน เสด็จขึ้นไปตามลำน้ำปิง ผ่านเมืองต่างๆ เช่น เมืองบางประบาง (ปากบาง) เมืองคันธิกะ (ชัยนาท) เมืองปุรัฏธะ (นครสวรรค์) เมืองบุราณะ (ท่าเฉลียง) บ้านตาก (ตาก) จามเหงา (สามเงา) และดอยเต่า เป็นต้น ทรงใช้เวลาเดินทางถึงเกือบ 7 เดือน ครั้นเมื่อสุเทวฤๅษีทราบข่าวพระนางเสด็จมาถึง ก็ป่าวร้องชาวเมืองออกมารับเสด็จพระนางเข้าพระนคร พระนางทรงกระทำพระราชพิธีราชาภิเษกได้ 7 วันก็ทรงประสูติพระราชโอรสฝาแฝด

เมื่อพระนางจามเทวีได้มาครองเมืองหริภุญชัยแล้ว ก็ทรงสร้างจตุรพุทธปราการขึ้น ซึ่งตรงนี้แหละจะมีความเกี่ยวพันกับพระเครื่องสกุลลำพูนที่เรานิยมเล่นหากัน คือ

อาพัทธาราม (วัดพระคง) เป็นพุทธปราการประจำฝ่ายทิศเหนือ ณ วัดแห่งนี้ ที่พบพระเครื่องที่โด่งดังและรู้จักกันดี คือ พระคง ฯลฯ

อรัญญิกรัมมการาม (วัดดอนแก้ว) เป็นพุทธปราการปกป้องฝ่ายทิศตะวันออก และพระเครื่องที่พบและเป็นที่รู้จักกันดีคือ พระบัง หรือพระบาง ฯลฯ

มหาสัตตาราม (วัดประตูลี้) เป็นพุทธปราการอารักขาทางฝ่ายทิศใต้ของพระนคร พระเครื่องที่พบและโดดเด่นก็คือ พระเลี่ยง ฯลฯ

มหาวนาราม (วัดมหาวัน) เป็นพุทธปราการอารักขาทางฝ่ายทิศตะวันออก พบพระเครื่องที่สำคัญของเรื่อง ก็คือ พระรอด ฯลฯ

ที่กล่าวอารัมภบทมานั้นก็เพื่อที่จะให้ท่านได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของหริภุญชัยนคร และวัดที่เกี่ยวข้องกับพระรอดที่เราจะพูดถึงกัน ก็อย่างที่กล่าวไว้แต่แรกว่าถึงอย่างไรก็ตามพระรอดก็เป็นพระที่มีอายุมากที่สุดของพระชุดเบญจภาคี เอาล่ะมาพูดกันถึงพระรอดกันซะที

ราวปีพ.ศ.2435 พบว่าพระเจดีย์ที่อยู่ในวัดมหาวันได้ปรักหักพังจนเหลือแต่ซาก มีสภาพเป็นกองอิฐและศิลาแลง กองระเกะระกะ พระเจดีย์องค์นี้พังลงมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ทั้งปราศจากผู้สนใจ ต่อมาเจ้าเหมพินธุไพจิตรได้ดำริให้มีการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยการสร้างสวมครอบองค์เดิม และเศษซากที่ปรักหักพังที่กองทับถมกันอยู่นั้นได้จัดการให้โกยเอาไปถมหนองน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างหอสมุดของวัด การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้พบพระรอดเป็นจำนวนมาก ภายในซากกรุเจดีย์ ส่วนหนึ่งมีผู้นำไปสักการบูชา และอีกส่วนหนึ่งยังปะปนกับซากกรุเก่าและดินทรายจมลงไปในหนองน้ำ

ต่อมาในสมัยเจ้าหลวงอินทยงยศ ประมาณปีพ.ศ.2451 เจ้าหลวงเห็นว่ามีต้นโพธิ์ขึ้นแทรกบริเวณฐานพระเจดีย์ และมีรากชอนลึกลงไปในองค์พระเจดีย์ ทำให้มีรอยร้าวชำรุด จึงให้รื้อฐานรอบนอกพระเจดีย์ออกเสียและปฏิสังขรณ์ใหม่ การกระทำครั้งนี้ได้พบพระรอดเป็นจำนวนหนึ่งกระเช้า จึงได้นำมาแจกจ่ายบรรดาวงศ์เจ้าลำพูน

ครั้นเมื่อมีการพบพระรอดทั้งสองครั้ง ทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในคุณวิเศษของพระรอด จากประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา จึงได้พากันมาขุดหาพระรอดกันภายในอุปจารของวัด ครั้งแรกกระทำกันเฉพาะบริเวณที่เคยเป็นแอ่งน้ำ ก็ได้พระรอดมาเป็นอันมาก ภายหลังต่อๆ มาการขุดได้ขยายขอบเขตออกไปทั่วอุปจารของพระอาราม ทั้งได้กระทำกันติดต่อมานานปี จนกระทั่งกลายเป็นประเพณีย่อยๆ ประจำปี จะมีการขุดหาพระรอดกันในฤดูแล้ง ในระยะหลังๆ พระรอดงวดลงทุกที จึงได้มีการแบ่งพื้นที่ขุดกันเป็นตารางเมตร และขุดหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีแล้วปีเล่า ได้มีการขุดดินในลานวัดไปใส่ตะแกรงร่อนหากันอย่างละเอียด จนอุปจารวัดเป็นหลุมเป็นบ่อไปหมด ทางวัดจึงไม่อนุญาตให้กระทำต่อไปอีก ดังนั้น การขุดหาพระรอดจึงได้ เลิกรากันไป

ต่อมาในปีพ.ศ.2497 ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์พระวิหาร เมื่อ 9 ก.พ. พ.ศ.2497 ได้ขยับพระวิหารให้ยาวออกไปทางด้านทิศตะวันออกจนชิดพระเจดีย์ ได้พบพระรอดจำนวนหนึ่งประมาณ 7 องค์ และพระอื่นๆ อีกเล็กน้อย ในปีพ.ศ.2498 ได้มีการปฏิสังขรณ์กุฏิเจ้าอาวาส ในการขุดลงรากฐานด้านหน้ากุฏิ ได้พบพระรอดเป็นจำนวนประมาณ 200 องค์

พระรอดกรุวัดมหาวันเป็นพระเครื่องที่ถูกจัดอยู่ในชุดเบญจภาคี ที่พบในวัดมหาวัน สามารถแยกได้เป็น 5 พิมพ์ทรง คือ

1.พระรอดพิมพ์ใหญ่ ซึ่งจะมีขนาดขององค์พระใหญ่กว่าทุกๆ พิมพ์ และมีฐานของพระนับได้ 4 ชั้น ต่างจากทุกพิมพ์ที่พบ และที่ใต้ฐานจะมีเนื้อเกินต่อลงมา ซึ่งพระรอดพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์ตื้น จะมีเนื้อเกินใต้ฐานเป็นแบบนี้ ที่องค์พระเราจะเห็นเส้นพิมพ์แตกที่ข้างหูซ้ายขององค์พระ (ขวามือเรา) แตกวิ่งลงมาเป็นทางยาวมาจรดขอบผนัง และจะมีเส้นน้ำตกเป็นเส้นพิมพ์แตกจากใต้แขนซ้ายขององค์พระ วิ่งลงมาถึงฝ่าเท้า และที่ใต้หน้าแข้งซ้ายขององค์พระก็มีเส้นน้ำตกวิ่งลงมาจรดฐานชั้นบน นอกจากนี้ใต้ฐานชั้นบนก็จะมีเส้นพิมพ์แตก (เส้นน้ำตก) อีกสามเส้นวิ่งลงมาที่ฐานชั้นที่สาม

2.พระรอดพิมพ์กลาง จะคล้ายกับพระรอดพิมพ์ใหญ่ แต่ฐานของพระจะมีแค่สามชั้น ฐานเกินใต้ฐานพระจะมีเช่นกันเหมือนกับพิมพ์ใหญ่ เส้นพิมพ์แตกข้างหูซ้ายจะไม่มี จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดว่าเป็นพระพิมพ์กลางคือ ในซอกแขนขวาขององค์พระ (ซ้ายมือเราใกล้ๆ รักแร้) จะมีเนื้อเกินให้เห็นอยู่ครับ

3.พระรอดพิมพ์เล็ก พระพิมพ์นี้จะมีฐานสามชั้น และจะไม่มีฐานเกินที่ใต้ฐานพระ ฐานชั้นล่างสุดมักจะพิมพ์ไม่ติด เห็นเป็นสัญลักษณ์เพียงขอบมุมฐานทั้งสองด้าน เป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมแนวนอน ที่บริเวณคอจะเห็นเส้นพิมพ์แตกคล้ายเป็นเส้นเอ็นคอที่ด้านซ้ายขององค์พระ และมีเส้นพิมพ์แตกที่ใต้แขนซ้ายขององค์พระมาจรดฝ่าเท้า

4.พระรอดพิมพ์ตื้น พระรอดพิมพ์นี้มีฐานสามชั้น และมีฐานเนื้อเกินที่ใต้ฐาน พระพิมพ์นี้จะเห็นได้ชัดว่าตามซอกแขน ซอกระหว่างหน้าตักและร่องระหว่างฐาน จะตื้นกว่าพระรอดพิมพ์อื่นๆ ยกเว้นบริเวณพระเศียรกับผนังโพธิ์จะลึกเช่นเดียวกับพิมพ์อื่นๆ

5.พระรอดพิมพ์ต้อ เป็นพระรอดที่มีเส้นฐานสามชั้นเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีเนื้อฐานเกินที่ใต้ฐานเช่นเดียวกับพระพิมพ์เล็ก องค์พระจะดูอ้วนและต้อกว่าพระพิมพ์อื่นๆ จึงเรียกกันว่า “พิมพ์ต้อ” พระเศียรค่อนข้างเขื่อง

พระรอดกรุวัดมหาวัน ที่เป็นพระชุดเบญจภาคีก็มีเพียง 5 พิมพ์ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วครับ

ด้วยความจริงใจ แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน