วัดประยูร-มูลนิธิสถาบันพัฒนาฯ ร่วมใจพัฒนา-ชุมชนย่านกะดีจีน

วัดประยูร-มูลนิธิสถาบันพัฒนาฯ ร่วมใจพัฒนา-ชุมชนย่านกะดีจีน – เรียบร้อยไปแล้วสำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ “ร่วมใจพัฒนาชุมชนย่านกะดีจีน” โดยมี พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พร้อมด้วย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธาน กรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย นายอภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิบางกรรมการาร์ตเบียนนนาเล่ นายวิเชฐ ตันติวานิช รองประธาน กรรมการสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ C asean และ นายปรีดา คงแป้น กรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามที่อาคาร CW Tower ถนนรัชดาภิเษก กทม. เมื่อไม่นานมานี้

ผู้ร่วมพิธีลงนาม

เชื่อว่าหลายคนคงได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนชุมชนแห่งนี้กันมาบ้างแล้ว เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ถือเป็นตัวอย่างในด้านการบริหารจัดการชุมชนอัจฉริยะ และเป็นชุมชนที่มีความยั่งยืน ที่นี่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและเรื่องราวอันน่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะสัมพันธภาพภายใต้ความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมในชุมชนที่ประกอบไปด้วยชาวจีน อินเดีย และชาวโปรตุเกส ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองเป็นเวลานานกว่า 200 ปี ประกอบไปด้วย 6 ชุมชน อาทิ ชุมชนวัดประยุรวงศ์ ชุมชนบุปผาราม ชุมชนกุฎีขาว ชุมชนวัดกัลยาณ์ ชุมชนโรงคราม และชุมชนกะดีจีน

พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยูรฯ

รวมแล้วมี 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ได้แก่ พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และอิสลาม ซึ่งมีความโดดเด่นตรงที่เป็นชุมชนที่ยังรักษาอัตลักษณ์วิถีชีวิตดั้งเดิม

โบสถ์ซางตาครู้ส

รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง แจกแจงว่า การร่วมลงนามครั้งนี้จะช่วยกันพัฒนาในหลายมิติทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในชุมชนและนอกชุมชนมารวมตัวกันเป็นวิสาหกิจเพื่อชุมชน จากนั้นอาจจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าที่นี่มี 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ดังนั้นการที่คนในชุมชนมาร่วมมือร่วมใจกันครั้งนี้ ย่อมมีอะไรพิเศษแน่นอน อย่างที่พระพรหมบัณฑิต ให้ข้อมูลว่า ชุมชนกะดีจีนซับซ้อนกว่าชุมชนที่ศาสนาเดียว เมื่อทำสำเร็จขึ้นมาก็น่าจะเป็นแบบได้ว่าอะไรที่มีความแตกต่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของศาสนาเท่านั้น แม้แต่ในเรื่องอื่นก็สามารถข้ามพ้นความแตกต่างและความแตกแยกไปได้ แล้วหันมาสมัครสมานสามัคคี ทำงานเพื่อ เป้าหมายคือการพัฒนาร่วมกัน

“ปัจจัยที่สำคัญคือผู้นำ จะต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกันมีเป้าหมายเดียวกัน ยอมรับเคารพความแตกต่างและทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อชุมชนของตัวเองเท่านั้น แต่เป็นการรวมเป็นพลังกันทั้ง 6 ชุมชน ทำให้มีพลังต่อรอง มีความหมายมากขึ้น อันนี้คือจุดที่ข้ามพ้นจากชุมชนของใครของมัน เหมือนการรวมกันเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน หากชุมชนทั้งคริสต์ พุทธ อิสลาม ต่างคนต่างอยู่มันไม่มีพลัง ทำอะไรจะไปคนละทาง แต่พอทำงานร่วมกันแบบนี้ ทำให้หลายฝ่ายอยากมาสนับสนุน อย่างที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไทยเบฟฯ”

ศาลเจ้าแม่กวนอิม-(เกียนอันเกง)

พระพรหมบัณฑิต บอกว่า ในการลงนามครั้งนี้ มิติแรกที่อยากจะให้ร่วมกันพัฒนา คือเรื่องของวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมทางวัตถุ พวกอาคาร สถาปัตยกรรมต่างๆ ในแบบที่ได้พัฒนาและบูรณะวัตถุ ซึ่งอยากให้ศาสนสถาน บ้านเมืองเก่าๆ มี่อยู่กันมาเป็น 100-200 ปีได้รับการดูแล อย่างเช่นมีบ้านที่สวยงามที่เป็นของเอกชน แต่เจ้าของไม่มีกำลังบูรณะและจะพังอยู่แล้ว คนก็เสียดาย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากนั้นเป็นพวกศาสนสถานต่างๆ

มิติที่2 เรื่องสิ่งแวดล้อม อยากจะเห็นชุมชนสะอาด เหมือนกับที่เวลาไปต่างประเทศ แต่ปัญหาน้ำในลำคลองเกินความสามารถของชาวบ้าน คูคลองทั้งหลายบางทีก็มีขยะลงไปหรือน้ำไม่สะอาด เป็นน้ำที่มาจากของเสียลงไปในคลอง ต่อไปจะลงแม่น้ำเจ้าพระยา ประเด็นนี้อาจจะต้องทำเรื่องจิตอาสากัน แต่ในชุมชนยังไม่มีใครประสาน

จากนี้คงต้องติดตามกันว่าผลของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการร่วมใจพัฒนาชุมชนย่านกะดีจีน จะเห็นเป็น รูปธรรมมากน้อยแค่ไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน