พระคณาจารย์จีน ธรรมปัญญาจริยาภรณ์

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

พระคณาจารย์จีน ธรรมปัญญาจริยาภรณ์ – “พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์” หรือท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว อดีตรองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย และอดีตเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ พระเถระที่ทุ่มเทให้กับการศึกษาคณะสงฆ์มาเป็นเวลายาวนาน

มีนามเดิมว่า เย็นเชี้ยว เกิดในตระกูลแซ่เจียม เมื่อปี พ.ศ.2482 มีภูมิลำเนาเดิมอยู่เขตยานนาวา กรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายยุ่นฮะ แซ่เจียม มารดาชื่อ นางซิ้วเกียว แซ่ลี้ เชื้อชาติจีน (จีนแต้จิ๋ว) จากมณฑลกวางตุ้ง โดยหลวงพ่อ เกิดในประเทศไทย

จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรคณะสงฆ์จีนนิกาย ในปี พ.ศ.2502 และอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในปี พ.ศ.2503 ที่วัดโพธิ์เย็น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี โดยมีพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร หรือพระอาจารย์โพธิ์แจ้ง เป็นพระอุปัชฌาย์

ตลอดชีวิตการครองเพศบรรพชิตหลวงพ่อเย็นเชี้ยว ทำความดีช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่นักเรียนทั่วไป ร่วมสร้างโรงเรียนต่างๆ มีการดูแลผู้พิการ คนชรา

พระคณาจารย์จีน ธรรมปัญญาจริยาภรณ์

ส่วนการพระศาสนา หลวงพ่อเย็นเชี้ยว บูรณะวัดเล่งเน่ยยี่ คงศิลปะแบบเดิมไว้ทั้งหมด ส่งเสริมการศึกษาเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา สอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงตอนปลายให้แก่สามเณรในคณะสงฆ์จีนนิกายได้ เรียนหนังสือ โดยหลวงพ่อจะส่งเสริมให้ พระภิกษุ-สามเณร ในวัดได้รับการศึกษาจนถึงปริญญาเอก

ในปี พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์ เป็น “พระมหาคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ ไพศาลสุนทรสมณกิจสิริมงคลประสิทธิ์คุณาภิวัฒน์ พุทธบริษัทจีนวิเนตา”

หลวงพ่อยังเป็นผู้ก่อตั้ง วัดบรมราชากาญจนาภิเษก หรือวัดเล่งเน่ยยี่ 2 ที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี แต่เดิมเป็นโรงเจขนาดเล็ก มีพื้นที่ 2 ไร่เศษ ด้วยมีปณิธานที่จะพัฒนาที่ดินส่วนนี้ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ขึ้น เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

โครงการก่อสร้างวัดแห่งนี้จึงได้เกิดขึ้น โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน) เสด็จทรงเป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2539

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ ใช้โครงสร้างแบบศิลปะจีนล้วน โดยเฉพาะพุทธศิลป์ ภายในวัดจารึกความสัมพันธ์ไทย-จีน ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ตลอดถึงพุทธศาสนามหายานจีนนิกาย ที่เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ด้วยศิลปะจีนอันงดงาม ควรแก่การศึกษา ทั้งในด้านของศาสนาและประวัติศาสตร์ไทย-จีน

ต่อมา นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวัง ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัด-ขอตั้งวัด และทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า “วัดบรมราชากาญจนาภิเษก อนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์”

หลวงพ่อเย็นเชี้ยว เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นที่แตกฉาน ว่างจากกิจวัตรประจำวันแล้ว ก็ยังค้นคว้าศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ ชอบการกุศล เจรจาไพเราะ มีกำลังใจกล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากทั้งหลาย เคร่งครัดระเบียบวินัย อยู่ในสัมมาปฏิบัติเป็นพระอาจารย์อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรเป็นเวลากว่า 15 ปี เป็นผู้มีความสามารถในการบริหารสูง มีปณิธานที่จะพัฒนาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า จึงเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของสาธุชนทั้งหลาย

ทั้งนี้ ก่อนมรณภาพหลวงพ่อเย็นเชี้ยว มีดำริให้สร้างมหาวิทยาลัย โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมถึงการสร้างโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งได้เตรียมพื้นที่ไว้แล้วบริเวณบางบัวทอง

ในเวลาต่อมา หลวงพ่อมีอาการป่วยเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร กระทั่งได้รับการผ่าตัด แต่อาการมาเกิดขึ้นอีกช่วงตรุษจีน หลวงพ่อจึงเข้ารับการรักษาอาการอาพาธตั้งแต่ช่วงหลังตรุษจีนเป็นต้นมา ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ

กระทั่งเมื่อช่วงกลางดึกวันอาทิตย์ที่ 25 ต.ค.2558 เวลา 02.07 น. พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเชี้ยว) ได้ละสังขารอย่างสงบ ด้วยโรคไตวาย

สิริอายุ 76 ปี พรรษา 56

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน