หลวงปู่คร่ำ ยโสธโร วัดวังหว้า จ.ระยอง

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่คร่ำ ยโสธโร วัดวังหว้า จ.ระยอง : อริยะโลกที่ 6 – บรรดาพระเกจิคณาจารย์แห่งภาคตะวันออก ที่มีชื่อเสียง “หลวงปู่คร่ำ ยโสธโร” วัดวังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เป็นอีกหนึ่งพระเกจิอาจารย์ที่มีอายุยืนยาวเกินร้อยปี

อีกทั้งยังเป็นพระสงฆ์ร่วมยุคกับ พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร วัดช้างให้, หลวงปู่ศรีจันทร์ วัดเลยหลง จ.เลย, หลวงปู่ม่น วัดเนินตามาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี, หลวงปู่บุดดา วัดกลางชูศรีเจริญสุข, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อเกษม เขมโก จ.ลำปาง, หลวงปู่จู วัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี, หลวงปู่เริ่ม ปรโม วัดจุกกะเฌอ จ.ชลบุรี ฯลฯ

เกิดที่บ้านวังหว้า เมื่อวันพุธที่ 20 ต.ค.2440 ในช่วงเยาว์วัยบิดามารดาพาไปฝากไว้ที่วัดวังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง เริ่มเรียนประถม ก.กา กับพระ จนสามารถอ่านออกเขียนได้

อยู่วัดปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ประมาณ 2 ปี จึงย้ายไปเรียนที่วัดเพลงช้างเผือก ซึ่งอยู่ไม่ไกล แล้วกลับมาช่วยบิดามารดาทำนาตามเดิม

หลวงปู่คร่ำ ยโสธโร

เมื่ออายุครบ 20 ปี อุปสมบทที่วัดวังหว้า วันจันทร์ที่ 11 มิ.ย.2460 โดยมี พระครูสังฆการบูรพทิศ (ปั้น อินทสโร) วัดราชบัลลังก์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกาหลำ รองเจ้าคณะแขวงแกลง วัดเพลงช้างเผือก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เผื่อน วัดวังหว้า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ยโสธโร”

ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท รวมทั้งได้ศึกษาหนังสือขอมจนอ่านและเขียนได้เป็นอย่างดี ท่องจำพระปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหนังสือขอมได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาตำราวิชาการต่างๆ ควบคู่กัน โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อโต วัดเขาบ่อทอง เพื่อเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานและตำราแพทย์แผนไทย

ตำแหน่งหน้าที่สำคัญ เริ่มจาก พ.ศ.2464 เป็นเจ้าอาวาสวัดวังหว้า พ.ศ.2474 เป็นเจ้าคณะหมวดเนินฆ้อ พ.ศ.2479 เป็นเจ้าคณะตำบล พ.ศ.2486 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2474 เป็นพระครูชั้นประทวน พ.ศ.2481 เป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี ปี 2521 เป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ปี 2537 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอกที่ พระครูสุตพลวิจิตร

พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระมงคลศีลาจารย์

เป็นพระที่มีจิตใจเมตตาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยโรคกระดูกเรื้อรัง ด้วยเป็นพระหมอต่อกระดูกที่เลื่องลือ คนที่ขา แขนและกระดูกส่วนอื่นหัก ต่อให้หายมานับรายไม่ถ้วน

งานด้านการปกครอง เน้นให้พระสงฆ์สามเณรยึดถือศีลและระเบียบอย่างเคร่งครัด ต้องตั้งใจเล่าเรียนพระธรรมวินัย ต้องทำวัตรทุกเช้าเย็น ภายในบริเวณวัดงดเว้นอบายมุขทุกชนิด

ส่วนธรรมะคำสอนคือ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”

ปฏิบัติตนสำรวมในศีลอย่างเคร่งครัด ได้รับความเคารพนับถือศรัทธาจากสานุศิษย์และมหาชนทั่วประเทศที่เดินทางมานมัสการทุกวัน จะนั่งพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้พูดคุยด้วย ถ้าพอมีเวลา ใครขอให้ช่วยทำอะไรถ้าไม่ขัดศีลธรรมและเป็นเรื่องดีงามแล้ว จะช่วยทุกเรื่อง

ตั้งแต่เริ่มเป็นเจ้าอาวาสวัดวังหว้าเป็นต้นมา สร้างวัด สร้างโรงเรียนและสร้างสรรค์พัฒนาคนมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำบลวังหว้า แทบทุกโรงเรียนเกิดจากเมตตาจิตของท่านโดยแท้

ยังเป็นพระเกจิที่เชี่ยวชาญวิทยาคม ได้รับนิมนต์ไปปลุกเสกวัตถุมงคลทั่วทุกภาคของประเทศ มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องวัตถุมงคล ทุกรุ่นล้วนได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้นิยมพระเครื่อง อาทิ ผ้ายันต์พัดโบก น้ำมันนเรศวรออกศึก วัตถุมงคลต่างๆ โดยเฉพาะเหรียญรุ่น 49-36 รวมถึงพระผงพิมพ์สมเด็จ ฉลองอายุ 99 ปี

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง หลวงปู่คร่ำ ยโสธโร ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ วันที่ 1 ธ.ค.2540 ที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา

ท่ามกลางความเศร้าโศกอาลัยของสานุศิษย์ทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน