หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง พระเกจิดังเมืองพิจิตร

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง พระเกจิดังเมืองพิจิตร : อริยะโลกที่ 6 – หลวงพ่อพิธ พระเกจิชื่อดังแห่งวัดฆะมัง ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร จากการสืบค้นประวัติไม่ปรากฏฉายานามทางสงฆ์แต่อย่างใด มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง วิทยาคมเข้มขลัง

เป็นศิษย์สืบสายธรรมจากหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร

มีนามเดิม พิธ ขมินทกูล เกิดเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2418 ตรงกับวันอังคาร แรม 5 คํ่าเดือน 4 ปีกุน ที่บ้านบางเพียร หมู่ที่ 4 ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร เป็นบุตรของขุนหิรัญสมบัติ (ประดิษฐ์ ขมินทกูล) มารดาชื่อ นางปุย

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อปีพ.ศ.2440 ที่พัทธสีมาวัดบึงตะโกน อ.เมือง จ.พิจิตร โดยมีพระครูธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาวิจิตร วัดฆะมัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พลอย วัดราชช้างขวัญ เป็นอนุสาวนาจารย์

ได้ไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า อาทิ วัดบางมูลนาก อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร, วัดท่าถนน ซึ่งเป็นวัดอยู่ในตลาดอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ วัดหัวดง อ.เมือง จ.พิจิตร โดยเฉพาะวัดหัวดง หลวงพ่อพิธจำพรรษาอยู่นานที่สุด

อีกทั้งยังมีวัดวังปราบ จังหวัดนครสวรรค์ ฝึกวิชารักษาฝีในท้องกับพระอาจารย์สิน วัดบางคลาน อ.โพทะเล เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน และได้เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงพ่อเงิน ตลอดจนความรู้ต่างๆ จนเป็นที่แตกฉาน จึงได้มาจำพรรษาที่วัดฆะมัง บ้านเกิด

นอกจากจะได้ศึกษาเล่าเรียนจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ แล้วหลวงพ่อพิธยังได้เล่าเรียนวิชาความรู้จากปู่ของท่านอีกด้วย นับว่าเป็นผู้เสาะแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง

เป็นพระที่มักน้อย ถือสันโดษ และไม่ยอมสะสมเงินทอง จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างถาวรวัตถุเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป หลวงพ่อพิธจึงได้สร้างอุโบสถถึง 5 หลัง คือ วัดฆะมัง, วัดดงป่าคำใต้ (วัดใหม่คำวัน), วัดบึงตะโกน, วัดสามขา และวัดหัวดง

ด้วยความที่เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการรับฟังธรรมและขอวัตถุมงคลไว้เป็นที่ระลึก อาทิ ภาพถ่ายหลวงพ่อพิธ เป็นภาพเล็กๆ ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพหลวงพ่อเงิน (พระอาจารย์ของหลวงพ่อพิธ), ตะกรุดมหารูด, ขี้ผึ้งวิเศษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปนมัสการท่านและขอสิ่งที่เป็นที่ระลึก หลวงพ่อพิธจะเตือนเสมอว่า “สิ่งที่มอบให้นี้เป็นประหนึ่งว่าเราได้มาพบหน้าตากัน มีความเคารพต่อกันดุจญาติพี่น้องและสิ่งเหล่านี้ขอให้เข้าใจว่าเป็นอนุสรณ์ต่อกันเมื่ออยู่ห่างไกล สิ่งหนึ่งที่ควรใฝ่ใจมากๆ คือ 1.จงอย่าประมาท 2.คุณพระพุทธคุณ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดา คุณมารดา 3.จงมีศีล มีสัตย์ ภัยพิบัติจะมาไม่ถึงเพราะมีอำนาจทิพย์คอยรักษาคุ้มครองอยู่ และ 4.เมื่อได้สิ่งของอันเป็นที่ระลึกแล้วควรมีปัญญา คือ อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับทุกข์

ช่วงบั้นปลายชีวิตสังขารเริ่มโรย หลวงพ่อพิธตรากตรำต่อการทำงานและหน้าที่พระคณาจารย์ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เริ่มมีอาการอาพาธหนัก สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง

สุดท้ายหลวงพ่อพิธมรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2488 ที่วัดฆะมัง สิริอายุ 70 ปี

ทั้งนี้ หลังจากประชุมเพลิงหลวงพ่อพิธมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น คือ ดวงตาทั้งสองของท่านไฟเผาไม่ไหม้ ชาวบ้านจึงเรียกขานท่านว่า “หลวงพ่อพิธตาไฟ”

คณะกรรมการผู้เก็บรักษาดวงตา ซึ่งไม่ไหม้ไฟของหลวงพ่อพิธ เห็นสมควรบรรจุดวงตาของท่านไว้ในรูปเหมือนเท่าองค์จริงหลวงพ่อพิธ เพื่อเป็นที่สักการะ ที่วัดฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร ตราบจนทุกวันนี้ เกียรติคุณอันสูงยิ่งของหลวงพ่อพิธทำให้สาธุชนรุ่นหลังยังคงระลึกถึงท่าน มีความศรัทธาอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน