พระร่วงคืบ ลพบุรี

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พระร่วงคืบ ลพบุรี – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงพระกรุเนื้อชินเงินประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่าพระร่วงคืบ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ชื่อนี้อาจจะฟังดูไม่คุ้นหูเท่าไหร่ เนื่องจากจำนวนของพระมีไม่มากนัก และขนาดขององค์พระซึ่งมีขนาดเขื่องมาก ส่วนมากนิยมทำฐานซุ้มเพื่อนำไปไว้บูชาที่บ้าน

พระร่วงคืบ ถูกลักลอบขุดได้ที่บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ซึ่งมีพระปรางค์อยู่มากมาย มีทั้งสร้างไว้ในยุคขอม และมีการสร้างเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา มีพระปรางค์องค์หนึ่ง เป็นทรงกลีบมะเฟือง รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบอยุธยายุคต้น และเป็นที่บรรจุพระเครื่องที่เรียกว่าพระร่วงคืบ ในปีพ.ศ.2502 มีกลุ่มผู้ลักลอบเข้ามาขุดเพื่อหาสมบัติและพระเครื่องพระบูชา ก็ได้พระไปจำนวนมาก ทั้งพระบูชาและพระเครื่อง พระเครื่องได้แก่พระร่วงคืบ พระใบขี้เหล็ก พระคาบศร พระนารายณ์ทรงปืน พระซุ้มกระรอกกระแต เป็นต้น ว่ากันว่าขุดได้พระเครื่องจำนวนมากมาย บรรทุกรถสามล้อถีบไปเต็มคันรถ และค่อยๆ นำออกมาขายในตลาดลพบุรี

พระร่วงคืบเป็นพระพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 18 ซ.ม. กว้างประมาณ 6 ซ.ม. พุทธลักษณะเป็นพระประทับยืนปางประทานพร ในซุ้มเรือนแก้ว ปลายพระบาทถ่างออกด้านข้าง หันส้นเท้าเข้าหากัน ซึ่งนับว่าดูแปลกตา ฐานเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงายสองชั้น

พุทธลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ทอง 2 หรือต้นกรุงศรีอยุธยา พระพักตร์ศิลปะคล้ายกับหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง พระที่พบเป็นพระเนื้อชินเงิน มีคราบปรอทจับผิวพระ บางองค์พบว่ามีปิดทองมาแต่ในกรุ สาเหตุที่เรียกว่าพระร่วงคืบ อาจจะเพราะว่ามีขนาดใหญ่และมีความสูงประมาณคืบ คนรุ่นเก่าจึงเรียกว่า “พระร่วงคืบ” ทำนองเดียวกับการเรียกพระกำแพงศอก กำแพงคืบ ทำนองนั้นครับ

พระร่วงคืบจะพบเป็นพระเนื้อชินเงินผิวปรอทเป็นส่วนใหญ่ มีบางองค์ที่มีผิวดำแบบสนิมตีนกาและสนิมเกล็ดกระดี่บ้าง พระร่วงคืบนอกจากพบที่ลพบุรีแล้ว ยังพบที่สุโขทัย สุพรรณบุรีและอยุธยาด้วย แต่ก็มีจำนวนไม่มากนักครับ ส่วนมากมักทำฐานไม้ประกอบซุ้ม ไว้ตั้งบูชาที่บ้าน ว่ากันว่าพุทธคุณนั้นบูชาไว้ก็จะดีทางด้านโชคลาภ ร่มเย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้าครับ

ปัจจุบันก็หายากครับ ไม่ค่อยได้พบเห็นนัก และในวันนี้ผมก็ได้นำรูปพระร่วงคืบจากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมกันด้วยครับ

ด้วยความจริงใจ แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน