คอลัมน์พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” ณ วัดชมภูเวก จ.นนทบุรี นอกจากจะได้รับการยกย่องจากบรรดาศิลปินที่เป็นจิตรกรของกรมศิลปากร ว่า ‘เป็นแบบอย่างภาพเขียนแม่พระธรณีที่งดงามที่สุดในโลก’ แล้ว ยังถือเป็นหนึ่งใน ‘โบราณวัตถุชิ้นเอก’ ที่แสดงถึงงานสร้างสรรค์ของสุดยอดฝีมือในสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถ.สนามบินน้ำ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นวัดมอญเก่าแก่ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายระยะต้น รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณปีพ.ศ.2225 ซึ่งในช่วงนั้นได้เกิดสงครามระหว่างพม่ากับจีนฮ่อ ชาวมอญจึงได้อพยพหนีเข้าเมืองไทยเพื่อพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบและทรงรับไว้ โดยโปรด ให้แม่ทัพนายกองอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

ส่วนไพร่พลและครอบครัวโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวเมือง อันได้แก่ บ้านสามโคก เมืองปทุมธานี, บ้านปากเกร็ด-บ้านท่าทราย-บ้านบางตลาด-บ้านตะนาวศรี เมืองนนทบุรี ฯลฯ ณ บ้านท่าทราย มี ‘ท่านพ่อปู่ (ฮาโหนก)’ เป็นหัวหน้ามอญอพยพ

เมื่อปักหลักอาศัยอยู่นานเข้า สัตว์เลี้ยงได้คุ้ยเขี่ยเหยียบย่ำพื้นดินจนร่วนซุย ครั้นฝนตกน้ำท่วมน้ำได้ไหลหลากพัดพาดินไป ทำให้ ‘อิฐก้อนใหญ่สีแดง’ โผล่ขึ้นมาเป็นบริเวณกว้าง ท่านพ่อปู่เห็นเช่นนั้นจึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี สันนิษฐานว่าที่ตรงนี้คงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์และเคยสร้างโบราณสถานมาก่อน ท่านพ่อปู่จึงได้จัดสร้าง “พระมุเตา (เจดีย์ทรงมอญ)” ลงบนเนินอิฐนั้น

จากนั้นเริ่มสร้างเสนาสนะต่างๆ เพื่อเป็นศาสนสถานสำหรับประกอบศาสนกิจของชาวบ้าน และให้ชื่อว่า “วัดชมภูวิเวก”

ภายหลังคำว่า ‘วิ’ ได้หายไปเหลือเพียง “วัดชมภูเวก” ส่วนท่านพ่อปู่ภายหลังชาวบ้านได้ตั้งสมญานามท่านว่า “พ่อปู่ศรีชมภู” เพื่อสอดคล้องกับชื่อวัด และสร้างศาลเพื่อสักการบูชา ปัจจุบัน “ศาลท่านพ่อปู่ศรีชมภู” ตั้งอยู่ด้านหลังวัด

งานสถาปัตยกรรมของวัดชมภูเวกจึงมีความเก่าแก่มากกว่า 330 ปี เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างไทย มอญ จีน พม่า และตะวันตกได้อย่างกลมกลืนและสวยงาม ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปีพ.ศ.2517 นอกจากนี้ยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณสถานของจังหวัดที่สำคัญ จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้คงความสมบูรณ์สืบมา

อุโบสถเก่าที่สร้างคราวเดียวกับการสร้างวัด (ปัจจุบันตั้งอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งสร้างเมื่อปีพ.ศ.2520) โดยมีลักษณะเด่นคือ มีประตูเข้า-ออกเพียงด้านเดียวตามคติมอญ ที่เรียกว่า “โบสถ์มหาอุด” หรือทางตะวันตกเรียก “แบบวิลันดา” ผนังด้านข้างทั้งสองสอบเข้าเพื่อใช้ผนังในการรับน้ำหนักทั้งหมดแทนเสา ซึ่งเชื่อกันว่า ‘อุโบสถมหาอุด ใช้ปลุกเสกของขลังได้ศักดิ์สิทธิ์นัก’

ผนังหุ้มกลองหน้าพระประธานเหนือประตู เป็นภาพพุทธประวัติ ตอน “มารผจญ” ใต้รูปพระพุทธองค์ เป็นภาพเขียน “แม่พระธรณีบิดมวยผม” ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งงามวิจิตรด้วยความคดเคี้ยวของเส้นสาย แสดงให้เห็นถึงศิลปะชั้นสูง อันน่าจะเป็นฝีมือขั้นบรมครู ว่ากันว่า … เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเหนือธรรมชาติประดุจภาพทิพย์ ที่เบาเสมือนลอยอยู่ในอากาศ ลำแขนดังลำเทียน การงอแขนอ่อนช้อยเยี่ยงแขนนางรำ แต่แลดูเข้มแข็ง วรกายอวบอิ่มทั้งเรือนร่าง นิ้วมือเรียวงาม นิ้วกลางและนิ้วนางข้างขวาที่ขดเป็นดั่งก้นหอย … ซึ่งศิลปินที่เป็นจิตรกรของกรมศิลปากรต่างยกย่องและรับรองว่าเป็นแบบอย่าง “ภาพแม่พระธรณี ที่เขียนได้อย่างงดงามที่สุด”

ดังนั้น ถ้ามีโอกาสไปเที่ยว จ.นนทบุรี น่าจะเข้าไปเยี่ยม “วัดชมภูเวก” ชมโบราณสถานและโบราณวัตถุเก่าแก่สำคัญภายในวัด ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่งดงาม และภาพจิตรกรรมฝาผนังอันล้ำค่าของไทยในอดีต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน