พระนั่ง ขนาดเล็ก พระเครื่อง

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

พระนั่ง ขนาดเล็ก พระเครื่อง : คติสัญลักษณ์สถาปัตยกรรม – ได้เขียนถึงคติสัญลักษณ์ของพระพุทธรูปนั่ง ขนาดใหญ่ในมุมมองของการแสดงธรรมหรือการเทศนาธรรมสำคัญของพระพุทธเจ้า โดยรูปแบบที่เรียกกันว่า มถุรา (ที่มิใช่เป็นเพียงรูปเคารพ เช่นเดียวกับรูปเคารพในลัทธิหรือในศาสนาอื่นๆ) พร้อมกับเหตุผลและจุดมุ่งหมายในทางจิตวิทยาหรือสังคมของผู้สร้าง

อาทิตย์นี้จึงขอเขียนถึงพระพุทธรูปองค์เล็กหรือที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปในประเทศไทยเรียกว่า พระเครื่อง และพระเครื่องที่จะเขียนถึงก็คือ “พระสมเด็จ” ซึ่งเป็นพระเครื่องที่ได้รับ ศรัทธาและความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในประเทศมากที่สุด และบางกรณีได้ทำให้ศรัทธาและความเชื่อนั้นเป็นประโยชน์ในทางพาณิชย กรรมไปด้วย

เชื่อกันว่าในบรรดาผู้ที่มีศรัทธาในพระเครื่องของไทยเกือบทุกท่านจะต้องมีพระสมเด็จอยู่ในการครอบครองเกือบทุกคน

และทุกคนก็คงจะเชื่อว่า พระสมเด็จ ที่มีอยู่นั้นเป็นพระสมเด็จจริงและมีสนนราคาในการจะมีจะครอบครองนั้น สูงมาก เป็นหลักหมื่น หลักแสนและ หลายล้าน

พระเครื่องที่น่าจะเรียกว่าเป็นพระสมเด็จนั้นผู้รู้หลายท่านอธิบายว่า น่าจะเป็น พระเครื่องที่สร้างด้วยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ซึ่งคงจะเริ่มสร้างเมื่อท่านได้สมณศักดิ์เป็นพระพุฒาจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2409 จนถึง 2415 ประมาณ 18,700 องค์ ส่วนที่เกินจากนั้นเป็นพระสมเด็จที่ปรากฏอยู่ในกรุวัดต่างๆ เช่น วัดอินทร์ บางขุนพรหม 84,000 องค์ ก็มาจากการร่วมมือของช่างชาวบ้านภายใต้การนำของเสมียนตรามี เป็นหัวหน้าในการจัดการ

พระสมเด็จ พระพุทธรูป ไม่ว่าใครจะเป็นผู้สร้าง ผู้ทำ ล้วนเป็นอุเทสิกเจดีย์ที่เป็นเครื่องระลึกถึงพุทธคุณทั้ง 3 (ไม่มีพระปลอม) อันได้แก่ พระบริสุทธิ์คุณ พระปัญญาคุณ และพระกรุณาคุณ ส่วนจะเพิ่มเติมเป็นพุทธคุณ 9 ประการ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้มีสตินั้นมากขึ้น (พระปลอมนั้นคือการนำพระไปเป็นของมีราคาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ)

พระสมเด็จที่มีผู้ครอบครองกันนั้น มีรูปแบบที่เรียกว่าพิมพ์ต่างๆ อยู่มากมาย หลายแบบ เช่น พิมพ์พระประธาน พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ทรงเจดี พิมพ์อกครุฑ (เซียนสมัยก่อนเรียกพิมพ์นี้ว่าพิมพ์ ไกเซอร์) พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์นอนไสยาสน์ พิมพ์ฐานสิงห์ ฯลฯ

แต่รูปแบบสำคัญก็คือ เป็นพระพุทธรูปในปางสมาธิกับปางมารวิชัย ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ขนาดประมาณกว้าง 2.5 ซ.ม. สูง 3.5 ซ.ม. เหมาะสำหรับการนำไปห้อยคอ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า และแถมด้วยศรัทธาที่จะได้รับความแคล้วคลาดจากอันตราย ได้รับเมตตามหานิยม และโชคลาภ กับการที่ได้แขวนพระสมเด็จไว้ด้วย

การแขวนพระเครื่องไว้เตือนสติของพุทธศาสนิกชนนั้น นอกจากจะเข้าใจในเรื่องของคติ สัญลักษณ์ หรือ มถุราในพระพุทธรูปนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (สุนทร สุนทราโภ) เจ้าอาวาสวัดราชกติการาม ให้คติของการบูชาพระสมเด็จ ก็คือ การระลึกและปฏิบัติตนเช่นเดียวกับปฏิปทาของสมเด็จพุฒาจารย์โต

ไม่ถือตัว ไม่กลัวใคร น้ำใจดี และมีปฏิภาณ (ซึ่งก็คือ การมีศีล มีสติ มีสมาธิ และมีปัญญา)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน