พระพุทธรูปปางลีลา

คอลัมน์ คติสัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

พระพุทธรูปปางลีลาเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่งดงามมาก แต่ด้วยการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ค่อนข้างยาก กล่าวคือ การสร้างพระพุทธรูปให้มีลักษณะดังพระพุทธเจ้าที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ และอยู่ในอิริยาบถของการก้าวเดิน ทำให้โครงสร้างขององค์พระพุทธรูปมีความมั่นคงแข็งแรงไม่ล้มนั้นค่อนข้างยาก เนื่อง จากจุดถ่ายน้ำหนักขององค์พระพุทธรูปต้องสมดุลกัน

ด้วยความยากลำบากในการจัดการก่อสร้างหรือสร้างองค์พระพุทธรูปปางนี้ จึงทำให้มีพระพุทธรูปปางนี้น้อยมาก ที่ดูเสมือนว่ามีเฉพาะการสร้างในสุโขทัย กำแพงเพชร และศรีสัชนาลัย แล้วไม่ค่อยปรากฏพระพุทธรูปนี้ในยุคสมัยต่อมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 25 จอมพล . พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาและทำให้เกิดพุทธมณฑลขึ้นที่จังหวัดนครปฐม

พระพุทธรูปปางลีลา

ที่นั่นเอง ที่พระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสุโขทัยได้ประดิษฐาน อันเป็นความหมายของการดำรงอยู่ มั่นคง และขยายตัวของพระพุทธศาสนาในสัญลักษณ์ของพระพุทธรูปปางลีลาที่งดงาม

จากหนังสือ ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ ของท่านพระพิมลธรรม ราชบัณฑิต ชอบ อนุจารีมหาเถร ได้บรรยายตำนานพระพุทธรูปปางลีลานี้ไว้ดังนี้

ความจริง การยกพระบาทเยื้องย่างเสด็จพระดำเนิน ซึ่งนิยมเรียกว่าการลีลาของพระพุทธเจ้านั้น โดยปกติก็ทรงปฏิบัติอยู่เป็นประจำทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่น่าจะมีความสำคัญอะไร ถึงกับเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นเลย

แต่บังเอิญคราวเสด็จพระพุทธดำเนินลงจากดาวดึงส์เทวโลก ท่ามกลางเทวดาและพรหมห้อมล้อมครั้งนั้น ว่ากันว่างามนักงามหนา ถึงกับพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรก็ยังไม่ วายจะชื่นชมปรากฏว่าท่านได้กล่าวคาถาสรรเสริญการเสด็จพระพุทธดำเนินครั้งนั้น ถวายพระบรมศาสดาด้วยความเบิกบานใจว่า

เม ทิฎิฺโฐ อิโต ปุพฺเพ สุโต อุท กสฺสจิ

เอวํ วคฺคุคโท สตฺถา ตุสิตา คณิมา คโต

ความว่า การที่พระพุทธเจ้าทรงพระสิริโสภาคอันงามปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยเห็นเลย ไม่เคยได้ยินแม้แต่ถ้อยคำ ใครๆ บอกเล่า พระบรมศาสดามีพระสุรเสียงอันไพเราะอย่างนี้เสด็จจากดุสิต มาสู่แผ่นดิน

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน