พระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระสกุลลำพูนมีพระเครื่องอยู่หลายแบบ พระกรุที่เด่นๆ ก็จะเป็นพระกรุของ วัดประจำทิศทั้ง 4 ของเมืองหริภุญชัย ที่พระนางจามเทวีได้ทรงสร้างไว้ ได้แก่ วัดมหาวัน วัดพระคงฤๅษี วัดประตูลี้ และวัดดอนแก้ว พระกรุของวัดทั้ง 4 มีพระเด่นของแต่ละกรุเช่นกัน

คือวัดมหาวันก็จะ เป็นพระรอด พระกรุวัดประตูลี้ก็จะเป็นพระเลี่ยง พระกรุวัดพระคงฤๅษีก็จะเป็นพระคง พระกรุวัดดอนแก้วก็จะเป็น พระบาง เป็นต้น

พระเครื่องกรุวัดประตูลี้เท่าที่มีบันทึกระบุว่ามีการขุดพบพระเครื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2417 โดยเจ้าหลวงดิเรกรัตนไพโรจน์ (ดาวเรือง) เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 8 ได้ปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ และได้พบพระเครื่องชนิดต่างๆ เช่น พระเลี่ยง พระเลี่ยงหลวง พระลือ พระสาม และ พระสิบสอง เป็นต้น

ต่อมาในปีพ.ศ.2484 ก็มีการขุดหาพระเครื่องที่วัดประตูลี้อีกใน ยุคของเจ้าหลวงจักรคํา ขจรศักดิ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของสงครามอินโดจีนและได้ พระเครื่องของกรุนี้เป็นจำนวนมาก พระที่พบได้แก่ พระเลี่ยง พระเลี่ยงหลวง พระลือ พระสาม และพระสิบสอง พระแปด เป็นต้น การขุดหาพระเครื่องครั้ง

ต่อมาก็คือปีพ.ศ.2499 เป็นการขุดพบโดยบังเอิญ โดยสามเณรอินตา และนายคำแก้วตาได้ขุดถอนต้นมะพร้าวซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของพระอาราม ได้ขุดพบโถโบราณเนื้อดินเผาใบหนึ่ง ลักษณะคล้ายตะเกียงหลอดมีฐานเป็นชั้นๆ ภายในโถมีพระเลี่ยงหลวงบรรจุอยู่

พระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้

ในบรรดาพระเครื่องที่ขุดได้ที่วัดประตูลี้ พระที่มีขนาดเล็ก และมีจำนวนมากที่สุดก็คือพระเลี่ยง ในครั้งที่พบพระในตอนแรกก็จะเรียกพระเลี่ยงว่า “พระเลี่ยม” ซึ่งเป็นคำเมืองเดิมที่หมายความว่าแหลมเรียว เนื่องจากรูปทรงของพระเลี่ยงเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมปลายแหลมเรียว

การตั้งชื่อพระในสมัยที่ขุดได้นั้นก็ตั้งกันง่ายๆ ตามรูปลักษณ์ที่เห็น แต่ต่อมาก็ได้เรียกเพี้ยนหรือเพื่อให้ได้เป็นนามมงคลก็ไม่ทราบได้ จึงกลายมาเป็นเลี่ยง และสอดคล้องกับพุทธคุณที่เด่นทางด้านแคล้วคลาดที่ว่า เลี่ยงลี้พ้นภัยพาลอะไรทำนองนี้ และพระเลี่ยงก็มีพุทธคุณเด่นทางด้านแคล้วคลาดด้วยครับ

พระเครื่องของกรุนี้ที่เด่นอีกชนิดหนึ่ง ก็คือพระลือ แต่ก็มีขนาดเขื่องกว่าพระเลี่ยง นอกจากนั้นก็จะเป็นพระขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น พระเลี่ยงหลวง (คำว่าหลวงหมายถึงใหญ่) พระสาม พระแปด พระสิบสอง เป็นต้น

พระเลี่ยงเป็นพระที่จำนวนการพบมากกว่าพระชนิดอื่นๆ และมีขนาดกำลังพอเหมาะที่จะห้อย แขวนคอ จึงได้รับความนิยมมากกว่าพระเครื่องแบบอื่นๆ ในกรุเดียวกัน

ปัจจุบันพระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้นั้นหาแท้ๆ ยาก ของปลอมเลียนแบบมีมากมายหลากหลายฝีมือ เวลาจะเช่าหาก็ต้องพิจารณาให้ดีๆ หน่อย นอกจากนี้ก็ยังมีพระเลี่ยงที่มาจากกรุอื่นๆ อีกหลายกรุ แต่แบบพิมพ์ก็จะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ที่นิยมมากที่สุดก็จะเป็นพระเลี่ยงของกรุวัดประตูลี้ครับ

เนื้อหาของพระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ ก็เป็นแบบเดียวกับพระสกุลลำพูน จะมีเนื้อค่อนข้างหนึกนุ่ม มีกรวดทรายผสมอยู่แต่ก็ค่อนข้างละเอียด สนนราคาในปัจจุบันพระเลี่ยงกรุนี้ค่อนข้างสูงมากพอสมควร

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ จากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน