พระหูยาน ลพบุรี

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

ชมรมพระเครื่อง – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน อาณาจักรลพบุรีเคยเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในอดีต สมัยที่ขอมมีอำนาจ อยู่ในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและปกครองดินแดนแถบนี้ได้สร้างโบราณสถานทั้งแบบศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ พร้อมทั้งประติมากรรมและพระพิมพ์ไว้มากมาย หนึ่งในพระพิมพ์ที่มีความสำคัญและนิยมกันมาก และถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของลพบุรีเลยก็ว่าได้ก็คือพระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี

พระหูยานได้มีการขุดพบกันมานานแล้ว เท่าที่มีการบันทึกบอกเล่าไว้ก็คือ ในปีพ..2450 ครั้งสมัยพระยากำจัด เป็นเจ้าเมืองลพบุรี ได้มีเจ้าหน้าที่ของเรือนจำเป็นผู้บงการโดยใช้นักโทษเป็นผู้ขุด บริเวณพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

การขุดในครั้งนั้นได้พระพุทธรูปบูชาและพระเครื่องสกุลลพบุรีออกมามากมาย เช่น พระร่วง พระหูยาน พระหลวงพ่อจุก พระหลวงพ่อแขก พระนารายณ์ทรงปืน พระซุ้มกระรอกกระแต พระสาม พระเขมรคางคน พระเขมรผมเวียน ฯลฯ

พระที่ขุดพบในครั้งนั้นจะเรียกกันว่า พระกรุเก่า ผิวของพระที่ได้มาในครั้งนั้นมักจะมีผิวเป็นสีคล้ำๆ ออกดำ ต่อมามีการลักลอบขุดกันอีกหลายครั้ง เช่น ในปีพ..2485 แต่ในครั้งหลังๆ ก็ไม่ค่อยได้พระกันมากนัก

ต่อมามีการขุดพบครั้งใหญ่อีกครั้งในปีพ..2508 ซึ่งเป็นการพบครั้งใหญ่ พบพระเครื่องเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ พระหูยาน พระที่พบในครั้งนี้มีผิวปรอทจับขาวทั่วทั้งองค์พระ พระที่พบในครั้งนี้จึงเรียกกันว่าพระกรุใหม่

นอกจากนี้ก็ยังมีการพบ พระหูยาน อีกหลายกรุในลพบุรี เช่น พบที่กรุวัดปืน กรุคอปะ เป็นต้น ซึ่งพิมพ์จะแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย พระหูยานที่พบในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้นจะมีพบเป็นพิมพ์บัวสองชั้น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก และพิมพ์รัศมี เป็นต้น ส่วนพิมพ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือพิมพ์ใหญ่

พระพุทธศิลปะของพระหูยาน เป็นพระประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ อยู่บนอาสนะบัวเล็บช้าง 5 กลีบ ตอนบนเป็นเกสรบัวลักษณะเป็นเส้นขีดๆ สั้นๆ 15 ขีด ใต้บัวเล็บช้างลงไปเป็นฐานหน้ากระดาน พระพักตร์ของพระหูยาน พิจารณาอาการอันสงบนิ่ง ประกอบกับการสำแดงออกแห่งอาการแย้มพระโอษฐ์อย่างล้ำลึก ประณีตเยือกเย็นขององค์พระปฏิมาแล้ว ในความหมายของหสิตุปาทะ

คือการยิ้มของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตามแบบอย่างศิลปะขอมที่เรียกกันว่ายิ้มแบบบายน อันเป็นที่ฉงนฉงายในความสำเร็จแห่งพุทธศิลปะบายนอันนี้ ซึ่งอยู่ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบกับประติมากรรมชิ้นใหญ่ที่ปราสาทนครธม ที่เป็นรูปพรหมพักตร์เหนือตัวปราสาท จะมีพุทธลักษณะแบบเดียวกัน จึงทำให้สามารถกำหนดยุคสมัยของพระหูยานลพบุรีได้ครับ

สาเหตุที่มาของชื่อเรียกนั้นก็มาจาก พระกรรณ (หู) ของพระหูยานนั้นมีใบพระกรรณทั้ง 2 ข้างยาวลงมาจรดพระอังสา (ไหล่) อันเป็นลักษณะเด่นชัด จึงเรียกขานกันมาแต่เดิมว่าพระหูยานส่วนในคำว่าลพบุรีนั้นก็เป็นที่มาของเมืองที่พบครับ เนื้อหาของพระหูยานลพบุรีที่พบมีอยู่เนื้อเดียวคือเนื้อชินเงิน ด้านหลังมีทั้งแบบที่เป็นแอ่งและหลังตัน ส่วนใหญ่จะปรากฏลายผ้าหยาบๆ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระหูยาน ลพบุรี พิมพ์ใหญ่ กรุใหม่องค์สวย มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน