พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

 

…ไปครู่หนึ่งถึงเขาเคราสวาท

มีอาวาสวัดวามหาเถร

มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ

พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ

กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้

ขึ้นไปไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน

เขานับถือลือมาแต่บุราณ

ใครบนบานพระก็รับช่วยดับร้อน…

……..

เป็นบทกวีที่ ท่านสุนทรภู่ ได้ประพันธ์ไว้ใน “นิราศเมืองเพชร” เมื่อราวปี พ.ศ.2374 กล่าวถึง หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพ สักการะมาแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในด้านบนบานศาลกล่าวแล้วมักประสบความสำเร็จ

วัตถุมงคลก็เช่นกัน ไม่ว่ารุ่นไหนแบบไหน ผู้สักการบูชาสามารถอธิษฐานขอพรได้ดังใจปรารถนา จนเป็นที่นิยมและแสวงหามาถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อทองนับเป็นหนึ่งใน “ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ” ที่เล่าขานกันสืบมาว่า เมื่อปี พ.ศ.2302 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงต่อพม่า ชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้อพยพหนีพม่าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากคลองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ใกล้กับวัดศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดร้าง และช่วยกันบูรณะก่อสร้างใหม่ แล้วให้ชื่อว่า “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้าง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเพชรสมุทรฯ”

อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านแหลมเหล่านี้ซึ่งมีอาชีพทำการประมง ออกไปเที่ยวหาปลาลากอวน ไปพบพระพุทธรูป 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน จึงอัญเชิญพระพุทธรูปยืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม ตั้งนามว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ส่วนอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง ได้มอบให้ชาวบ้านบางตะบูน ชาวบางตะบูนจึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ บริเวณวัดเขาตะเครา จึงเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา”

หลวงพ่อวัดเขาตะเครา พระพุทธรูปนั่ง ปางมารวิชัย สมาธิราบ สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว ได้สร้างปาฏิหาริย์ให้เป็นที่ประจักษ์มากมาย ผู้ใดตกทุกข์มาบนบานศาลกล่าวก็จะได้ตามประสงค์ทุกประการ

สำหรับ “วัดเขาตะเครา” นั้น สันนิษฐานว่า มีเจ้าสัวชาวจีนผู้หนึ่งมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้สละทรัพย์สร้างเป็นวัดขึ้น เมื่อได้พระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญ โดยให้ลูกน้องคนหนึ่งซึ่งไว้หนวดเครายาวเป็นผู้ควบคุมงาน ชาวบ้านเห็นชาวจีนไว้เคราจึงเรียก “วัดเขาจีนเครา” แล้วค่อยเพี้ยนมาเป็นวัดเขาตาเครา จนถึง “วัดเขาตะเครา” ในที่สุด

วัตถุมงคลหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา มีการจัดสร้างมากมายหลายประเภท ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูง ด้วยพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ปรากฏแก่ผู้บูชาจนเป็นที่กล่าวขวัญ เริ่มตั้งแต่ “ลูกอมทองไหล” ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี 2468” ซึ่งเป็นเหรียญปั๊มที่สร้างขึ้นเป็นรุ่นแรก ที่เรียกได้ว่ามีค่านิยมสูงสุด อาจสืบเนื่องจากความคมชัดและประณีตของเหรียญที่สร้างจากการปั๊ม

แต่ที่นับว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกจริงๆ นั้น จะเป็นเหรียญรุ่นที่สร้างในปี พ.ศ.2465 ซึ่งเป็น “เหรียญหล่อโบราณ” และด้วยรูปทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วงการพระจึงมักเรียกกันว่า “สี่เหลี่ยมปรกโพธิ์”

เหรียญหล่อสี่เหลี่ยมปรกโพธิ์ หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา จึงนับเป็นเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อทองที่สร้างออกมาเป็นรุ่นแรก ในสมัยพระอธิการห้อย ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ.2465 โดยสร้างเป็นเนื้อทองเหลือง หูเชื่อม ยกขอบทั้งหน้าและหลัง ด้านหน้าจำลององค์หลวงพ่อทอง ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะบัวสองชั้น มีพื้นฐานเขียงรองรับอีกชั้นหนึ่ง ด้านหลัง มีอักขระขอม 3 บรรทัด อ่านว่า “อิ สวา สุ มิ โน เชย ยะ”

เหรียญหล่อสี่เหลี่ยมปรกโพธิ์ หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา นี้ ปัจจุบันเป็นเหรียญที่หายากยิ่ง สนนราคาสูงเอาการ และมีการทำเทียมเลียนแบบค่อนข้างสูง ดังนั้น นอกจากการพิจารณาพิมพ์ทรงแล้ว ต้องใช้หลักการพิจารณา “เหรียญหล่อโบราณ” โดยหลักสังเกตใหญ่ๆ คือ การเข้าดินนวลซึ่งจะผสมขี้วัวหมัก โบราณเรียก “ดินขี้งูเหลือม” เมื่อเทมวลสารลงในหุ่นเทียนจะเกาะติดกับเนื้อองค์พระเห็นเป็นจ้ำๆ และให้สังเกตบริเวณหูเชื่อมที่จะต้องจับโค้งติดกับตัวเหรียญ มักจะปรากฏเนื้อปลิ้นระหว่างปลายตัวปลิง

อีกประการหนึ่งคือ รอยตะไบ เหรียญหล่อโบราณมักจะมีการใช้ตะไบในการตกแต่งเหรียญให้ได้รูป ซึ่งรอยตะไบจะไม่ไปในทิศทางเดียวกันครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน