พระกรุวัดหัวเมืองนครสวรรค์

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน จังหวัดนครสวรรค์เป็นชุมชนเก่าแก่มาแต่โบราณนับเป็นพันปีมาแล้ว ในพุทธศตวรรษที่ 13-16 ดินแดนแถบนี้ก็ได้รับอารยธรรมจากอินเดียตั้งแต่สมัยทวารวดีเป็นต้นมา ดังนั้นจึงเคยมีการค้นพบเมืองโบราณต่างๆ อยู่หลายเมือง เช่นเมือง จันเสน เมืองดงแม่นางเมือง หรือบ้านโคกไม้เดน ก็มีร่องรอยคล้ายเมืองโบราณที่พบในภาคอีสาน

จากศิลาจารึกซึ่งค้นพบที่ ดงแม่นางเมือง แปลความว่า เป็นดินแดนที่ชื่อ “ธานยบุรี” จากการขุดพบศิลาจารึกที่ดงแม่นางเมืองนั้น ยังขุดพบพระพุทธรูปสำริด และพระพุทธรูปหินทราย ศิลปะขอมแบบลพบุรีอีกมากมาย

นครสวรรค์เคยมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเช่น เมืองพระบาง เนื่องจากเคยเป็นเมืองที่พักระหว่างทางของพระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงอัญเชิญมาจากประเทศลาว และภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้นำกลับไปคืน หรือชื่อเมืองชอนตะวัน ซึ่งเรียกตามลักษณะของเมืองที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เมืองสี่แคว เรียกตามการมาบรรจบกันของแม่น้ำสี่สาย เมืองปากน้ำโพ ที่มาจากคำว่าปากน้ำโผล่

พระกรุวัดหัวเมืองนครสวรรค์

คือตัวเมืองตั้งอยู่ ณ สถานที่ของแม่น้ำใหญ่ที่ไหลมาบรรจบกันในปีพ.ศ.2438 นครสวรรค์เป็นหนึ่งในสี่มณฑลแรกที่ตั้งขึ้น โดยมีอาณาเขตเมืองนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ชัยนาท อุทัยธานี พยุหะคีรี มโนรมย์ และสรรคบุรี กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 7 มีการออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการปีพ.ศ.2476 จึงได้ยุบเลิกมณฑล นครสวรรค์จึงมีฐานะเป็นจังหวัดตั้งแต่นั้นมา

ในปีพ.ศ.2510 ได้มีการขุดพบพระเครื่องที่วัดหัวเมือง เขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ พระที่แตกกรุออกมานั้นมีอยู่ด้วยกันสองแบบ คือเป็นพระประทับนั่งปางมารวิชัย ซึ่งเชื่อกันว่า “พระนางพญา กรุวัดหัวเมือง” และพระพิมพ์แบบพระซุ้มนครโกษา ก็เรียกกันว่า “พระซุ้มนคร โกษา กรุวัดหัวเมือง” พระทั้งหมดที่พบ จะเป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงทั้งสิ้น จำนวนที่พบก็ไม่มากนัก และไม่มีใครได้จดบันทึกเรื่องจำนวนไว้ จึงไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนของพระที่พบ จากศิลปะของพระเครื่องกรุวัดหัวเมืองนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา

พระเครื่องกรุวัดหัวเมืองนี้ เมื่อขึ้นมาจากกรุใหม่ๆ นั้น จะมีสนิมไขขาวปกคลุมอยู่เกือบทั้งองค์ เมื่อนำมาล้างเอาคราบสนิมไขขาวออกบ้างนั้นก็จะพบว่าเนื้อในมีสนิมแดง สวยงาม สีออกแดงเข้มอมม่วง ตอนพระแตกกรุใหม่ๆ นั้น

สนนราคาก็ ยังไม่แพงนัก แต่ต่อมาพระได้เข้ามาสู่ส่วนกลางในกทม. พระของกรุนี้ก็ได้หมดไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นพระที่มีสีสนิมแดงสวยงาม และมีขนาดเล็กเหมาะแก่การนำไปเลี่ยมห้อยคอ ว่ากันว่าพุทธคุณเด่นทางด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรีครับ

ในปัจจุบันก็ไม่ค่อยได้พบเห็นพระของกรุนี้กันนักครับ และก็เช่นเคยครับ ผมจึงได้นำรูปพระเครื่องของกรุนี้มาให้ท่านผู้อ่านได้ชมกันหลายๆ สภาพ ทั้งที่ยังไม่ได้ล้างเอาสนิมไขขาวออกและพระที่ล้างสนิมไขขาวออกบ้างแล้วครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน