คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง

วันเสาร์ที่ 1 เม.ย.2560 “วัดธาตุทอง” พระอารามหลวง เขตวัฒนา กรุงเทพฯ จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระอุโบสถวัดธาตุทอง พระอารามหลวง

พิธีปลงผมนาค เวลา 14.00 น. ที่บริเวณด้านข้างพระอุโบสถ เวลา 17.00 น. ถวายสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์

วันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย. เวลา 09.00 น. พิธีอุปสมบทหมู่ 89 รูป และฉลองพระภิกษุ-สามเณรบวชใหม่ เวลา 12.09 น. พิธีเททองหล่อพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เพื่อนำไปประดิษฐานบนพระมหาเจดีย์ 84 พรรษา ราชนครินทร์

พระราชวรญาณโสภณ (ชุบ เขมังกโร) เจ้าอาวาสวัดธาตุทอง พระอารามหลวง กล่าวว่า สำหรับพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ เป็นพระนามพระพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้วหลายพระองค์ มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน อุปมาจำนวนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ล่วงไปแล้วมีจำนวนมากกว่าเม็ดทรายในมหาสมุทรทั้งสี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรื่องพุทธวิสัยเป็นอจินไตย คือเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชน ในพุทธวงศ์ หมวดพุทธปกิณณกกัณฑ์ ซึ่งว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า กล่าวถึงพระพุทธเจ้าไว้ 28 พระองค์ โดยเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพุทธวงศ์ 3 พระองค์ และในพุทธวงศ์ 25 พระองค์ รวมเป็น 28 พระองค์

ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับวัดธาตุทองไว้ในพระอุปถัมภ์ และพระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำวัดธาตุทอง

ในวันที่ 18 พ.ย.2550 ทรงพระกรุณาโปรดประทานผ้าพระกฐินให้นำมาทอดถวาย ณ วัดธาตุทอง และได้ทรงทราบเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ จากเจ้าอาวาสวัดธาตุทองว่า วัดธาตุทองมีแต่องค์พระธาตุที่ย้ายมาจากวัดหน้าพระธาตุเดิม แต่ยังขาดพระเจดีย์ที่บรรจุ เพื่อให้สมควรแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สักการะยิ่งของพุทธศาสนิกชน จึงสมควรนำมาประดิษฐานไว้ให้เป็นที่สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล

พระองค์จึงมีพระดำริให้จัดตั้งกองทุนสร้างพระมหาเจดีย์ 84 พรรษา ราชนครินทร์ ซึ่งมีความสูง 48 เมตร แบ่งเป็น 6 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เป็นสถานที่อบรมสมาธิและเจริญภาวนาและบรรยายธรรม ชั้นที่ 2 เป็นสถานที่รวบรวมพระไตรปิฎกจากทั่วโลก ชั้นที่ 3 เป็นพิพิธภัณฑ์พระใหม่ และพระรูปพระอริยสาวกทั้งหลาย ชั้นที่ 4 เป็นสถานที่รวบรวมพระพุทธปฏิมากรทั่วโลก ชั้นที่ 5 เป็นสถานที่รวบรวมพระธาตุพระอรหันตธาตุทั้งหลาย

ชั้นสูงสุด คือ ชั้นที่ 6 เป็นที่รวบรวมและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากทั่วโลก

วันที่ 18 พ.ค.2553 ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระมหาเจดีย์ 84 พรรษา ราชนครินทร์ โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์, ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประธานฝ่ายฆราวาส

พระมหาเจดีย์ฯ ดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเลือกแบบพระมหาเจดีย์ด้วยพระองค์เอง ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์

วันที่ 2 พ.ย.2557 ประกอบด้วยพิธีเททองหล่อพระพุทธชนมวาร 4 องค์ โดยท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม เป็นประธานในพิธี

ซึ่งพระพุทธชนมวารทั้ง 4 องค์ ประกอบด้วย พระปางห้ามญาติ เป็นพระปางประจำวันจันทร์ ประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, พระปางรำพึง เป็นพระปางประจำวันศุกร์ ประจำพระชนมวาร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, พระปางถวายเนตร เป็นพระปางประจำวันอาทิตย์ ประจำพระชนมวาร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยา ณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระปางห้ามสมุทร เป็นพระปางประจำวันจันทร์ ประจำพระชนมวาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระพุทธชนมวารทั้ง 4 องค์ มีความสูง 2.80 เมตร จัดสร้างขึ้นเพื่อนำมาประดิษฐาน ณ ซุ้มมหามงคล 4 ทิศ พระมหาเจดีย์ 84 พรรษา ราชนครินทร์

สำหรับพิธียกยอดฉัตรมหาเจดีย์ 84 พรรษา ราชนครินทร์ และประดิษฐานพระพุทธชนมวารประจำพระองค์ฯ บนซุ้มพระมหา เจดีย์ฯ ในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดขึ้นวันที่ 6 พ.ค.2560 เวลา 09.30 น. โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์, ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน