งานไหว้ครูบูรพาจารย์ หมายถึงการระลึกถึงคุณของผู้มีพระคุณ ได้แก่คุณของพระรัตนตรัย คือคุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระอริยสงฆ์ รวมไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงผู้ดูแลและรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองพระอาจารย์วิรุต ญาณสํวโร เป็นพระเกจิสักยันต์ เชี่ยวชาญด้านไสยเวทย์แห่งล้านนา

พระครูอมรสังวรกิจ (พระครูบารุต ญาณสํวโร) ปัจจุบันอายุ 40 พรรษา 19 เกิดเมื่อวันอังคาร ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ณ บ้านกลางเวียง ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ครอบครัวมีอาชีพทำนา สมัยเป็นเด็กท่านเล่าว่า ตอนเป็นเด็กอายุ 8-9 ขวบ เลิกเรียนก็ไปวัดชอบไปหาหลวงปู่ที่วัด ก็ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน อยู่วัดแล้วมีความสุข เด็กๆ ชอบเรื่องคาถา ไปขอเรียนคาถากับหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะยื่นหนังสือสวดมนต์ให้ บอกว่าคาถามีในนี้ อ่านเอาเรียนเอา แต่หลวงปู่บุญ ท่านไม่รู้หนังสือ แต่ด้วยความเป็นพระปฏิบัติกรรมฐาน ท่านสามารถสวดมนต์ได้หมด และการสวดมนต์ไหว้พระ ท่านทำเป็นกิจวัตรทุกวัน แม้จะเหนื่อยจะป่วย หลวงปู่ท่านไม่เคยขาด ดังนั้นเป็นเด็กจึงไปสวดมนต์ทำวัตรกับหลวงปู่เป็นประจำทุกวัน กลับไปถึงบ้านก็มืดค่ำ แม่ถามไปไหนมา ทำไมมาดึก บอกไปวัดไปหาหลวงปู่มา แม่ก็ดุ บางทีก็ตีบ้าง เพราะท่านเป็นห่วง

พออายุได้ 10 ขวบบิดาของท่านคือ พ่อไสว นรรัตน์ ก็ได้เสียชีวิต ชีวิตก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มารดาต้องไปทำงานต่างจังหวัดเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว เด็กชายวิรุต เลยต้องอยู่กับ ตายาย

อายุได้ 13 ปี ด้วยความที่อยากเป็นสามเณรตั้งแต่เล็กๆ ความฝันนั้นก็เป็นจริง พอจบชั้นป.6 ตัดสินใจไปที่วัดเพื่อขออนุญาตบวชเป็นสามเณร บรรพชาเป็นสามเณร gเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2533 ณ วัดกลางเวียง อ.เวียงชัย จ.เชียงราย โดยมี พระอุดมปัญญาภรณ์ หรือปัจจุบันคือหลวงพ่อพระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) จ.เชียงราย เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาเสร็จก็จำพรรษาที่วัดราษฏร์เจริญ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย โดยฝากตัวเป็นลูกศิษย์พระครูสุวรรณถิรคุณ (ครูบาคำปัน ถิรญาโน) ท่านก็เมตตาสอนอักขระล้านนาโบราณ จนสามารถเรียนรู้ได้คล่องแคล่วอ่านออกเขียนได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาพวกวิชาอาคมต่างๆ และเรียนกรรมฐานฝึกนั่งสมาธิควบคู่กันไป

จนถึง พ.ศ.2535 ได้กราบลาครูบาอาจารย์เพื่อมาศึกษาต่อที่วัดสันมะเหม้า ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายโดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์พระครูอินทวรรณวิวัฒน์(ครูบาจันทร์ตา สุวณฺโณ) ถือว่าเป็นพระมหาเถระที่มีอายุพรรษามากรูปหนึ่ง ท่านก็เมตตารับไว้เป็นศิษย์ และได้ศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ จากท่านด้วยความเมตตา และได้เรียนหนังสือควบคู่กันไป ทั้งทางโลกและทางธรรม จนเรียนจบนักธรรมชั้นเอก และมัธยมศึกษาปีที่ 6

อายุ 21 ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 โดยมีท่านพระครูชยาภิวัฒนคุณ เจ้าคณะอำเภอพาน เจ้าอาวาสวัดป่าซาง เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้ฉายาว่า ญาณสํวโรภิกขุ ก่อนวันอุปสมบทหนึ่งคืน คือวันที่ 5 พฤษภาคม ได้มีนิมิตฝันเห็น เทวดาท่านหนึ่ง ใส่ชุดเต็มยศสีขาว ระยิบระยับ มีหมวกแหลมๆ ท่านเหาะจากบนฟ้าลงมา ตรงเจดีย์ในวัด อยู่เบื้องหน้าสามเณรวิรุต ในความฝันนั้น เทวดาได้อุ้มพระพุทธรูปมามอบให้ นำมามอบให้ท่าน พร้อมบอกว่า ฝากไว้ด้วย พอตื่นขึ้นเกิดปีติอย่างแรงกล้า ตื่นเช้าขึ้นมาได้ไปไหว้หน้าเจดีย์ พร้อมดอกไม้ ไปอธิษฐานว่า “วันนี้ผมจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ขอสัจจะอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะขอมอบกาย มอบใจ ถวายให้พระพุทธศาสนา”

พระครูอมรสังวรกิจ (พระครูบารุต) ท่านมีความสนใจในเรื่องการสักยันต์ ได้กล่าวถึงตำนานการสักยันต์ ว่า เป็นความเชื่อมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวัฒนธรรมความเชื่อ และการสักยันต์ลงผิวหนังนั้น เป็นเรื่องความศรัทธาที่มีต่ออักขระเลขยันต์ ยังเชื่อมโยงความศรัทธาในครูบาอาจารย์ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ และเชื่อมั่นในคุณความความดีตนต้องรักษาให้มั่นคง เช่น ความกตัญญู ความมีสัจจะ สองสิ่งนี้คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หลายคนเชื่อว่า สักลายไปแล้ว เราต้องขลังและศักดิ์สิทธิ์ตลอดไป คนนั้นคิดผิดอย่างยิ่ง อักขระเลขยันต์ กับวิถีแห่งความดี ต้องดำเนินไปคู่กัน เมื่อเราเต็มใจ ตั้งใจน้อมกาย วาจา ใจ ฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์แล้ว เราก็ต้องพร้อมที่จะทำดีควบคู่ด้วยเช่นกัน เพราะวิชาใดๆ ในโลกนี้ หนีเคราะห์กรรมไปไม่พ้น สิ่งที่จะช่วยบรรเทาหนักเป็นเบาได้นั้น คือความดี บุญกรรมที่เราทำ เมื่อเรามีบุญบารมี ครูบาอาจารย์ก็หนุนนำช่วยเหลือได้ในยามคับขัน ดังนั้นใครคิดจะสักยันต์ ก็ต้องพร้อมที่จะเป็นคนดีด้วยเช่นกัน ..เพราะทุกศาสตร์มันมีเหตุและผล

เมื่อเรานับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับถือพระพุทธศาสนา ยันต์ทุกตัวส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น คาถาส่วนใหญ่ และตัวยันต์ มาจากภาษาบาลีสันสกฤตแทบทิ้งสิ้น เช่น นะโม พุทธายะ อะระหัง อิติปิโส ฯ เป็นต้น ดังนั้นทุกตัวอักษรเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คาถาเหล่านี้จึงจัดเป็นของสูง เมื่อเรานำมาสักลงบนผิวหนังเราแล้ว เราก็ต้องพร้อมที่จะทำความดี และยึดมั่นในคุณธรรมด้วยเช่นกัน

ดังนั้นใครอยากลงของสักยันต์ ขอให้ท่านและศรัทธาก่อนแล้วค่อยมาฝากตัวเป็นศิษย์ คนเราเมื่อมอบกาย วาจา ใจ เป็นศิษย์กันแล้วก็ต้องยอมรับนับถือกันไปจนตลอดชีวิต อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ดี อำนาจคุณงามความดีและอำนาจของครูบาอาจารย์ก็ดีย่อมปกปักรักษาผู้นั้น ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข แคล้วคลาดปลอดภัย หนักเป็นเบา เป็นต้น

ส่วนงานไหว้ครูประจำปีนี้ พระอาจารย์วิรุต ญาณสํวโร ได้สร้างเหรียญล็อกเก็ต เพื่อมอบให้ลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้บูชาเพื่อหาปัจจัยในการสร้างสถานปฏิบัติธรรม ท่านสามารถร่วมบุญและติดต่อสอบถามได้ ที่วัดสันมะเหม้า ต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย โทร 089-5583299

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน