สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดมหาธาตุ

มีพระนามเดิม มี ประสูติเมื่อวันพุธขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 15 ก.ค.2293 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

ไม่ปรากฏหลักฐานภูมิลำเนาเดิม ต่อมาผนวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ครั้น พ.ศ.2325 เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระวินัยรักขิต แทนตำแหน่งที่พระอุปาฬี ซึ่งเป็นตำแหน่งพระราชาคณะสามัญมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

ดังนั้น สมเด็จพระสังฆราช (มี) จึงทรงเป็นพระราชาคณะในราชทินนามที่พระวินัยรักขิต เป็นรูปแรก

พ.ศ.2337 ในรัชกาลที่ 1 โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) และ สมเด็จพระพนรัตน

วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) ถึงรัชกาลที่ 2 เมื่อ สมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) ถึงมรณภาพ ราวต้นรัชกาล จึงทรงตั้งเป็นสมเด็จพระพนรัตน

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตน ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่สำคัญครั้งหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริที่จะให้พระสงฆ์ไทยออกไปสืบข่าวพระศาสนายังลังกาทวีป แต่เนื่องจาก สมเด็จพระสังฆราช (สุก)

ขณะนั้นทรงชราภาพ จึงทรงมอบหมายให้ สมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็นผู้จัดสมณทูต เพื่อออกไปยังลังกาทวีป

นับว่าเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญ ด้วยเป็นการรื้อฟื้นศาสนไมตรีระหว่างไทยกับลังกา ที่ร้างกันมากว่าครึ่งศตวรรษขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งเป็นการปูทางให้แก่สมณทูตไทยในรัชกาลต่อมา ซึ่งยังส่งผลให้คณะสงฆ์ไทยและลังกา มีการติดต่อสัมพันธ์กันใกล้ชิดยิ่งขึ้น อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน ในทางพระศาสนาในเวลาต่อมา

พ.ศ.2359 ในรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในราชทินนามว่า “สมเด็จพระอริยวงษญาณ” เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 7 ค่ำ เดือน 9 ปีชวด พ.ศ.2369 มีสำเนาประกาศทรงตั้ง ดังนี้

“สมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรมอนันตคุณวิบุลย อันมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธามี พระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนาให้สมเด็จพระ พนรัตน เป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณ

ปริยัติยวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายกติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤกษษรทักษิณาสฤทธิสังฆคามวาสี อรัญวาสี

เปนประธานถานาทุกคณะ นิกรจัตุพิธบรรพสัช สถิตย์ในพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหารพระอารามหลวงให้จฤกถฤๅตฤกาลอวยผล พระชนมายุศมศรีสวัสดิ พิพัฒนมงคลวิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด”

ในพระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกว่า สมเด็จพระสังฆราช ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ

กระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้เป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” และใช้พระนามนี้สืบมาจนปัจจุบัน

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคสมเด็จพระสังฆราช (มี) คือ การปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็น 3 ชั้น

เรียกว่า บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก หลักสูตรที่ใช้เรียนใช้สอบ คือพระไตรปิฎกทั้ง 3 คัมภีร์ ได้แก่ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ในระหว่างที่สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงเป็นมหาสังฆปริณายก

โปรดให้ปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมเพื่อให้ภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้เป็นบาเรียนมีความรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยขยายการศึกษาออกไปเป็น 9 ประโยค ผู้สอบไล่ได้ตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไปจึงเรียกว่าเป็นบาเรียน (หรือเปรียญ)

ชั้นบาเรียนที่ปรับปรุงใหม่ในรัชกาลที่ 2 ดังกล่าวนี้ ก็มีอัตราเทียบได้กับชั้นบาเรียนอย่างเก่าได้ ดังนี้ 3 ประโยค จัดเป็นบาเรียนตรี, 4-5-6 ประโยค จัดเป็นบาเรียนโท และ 7-8-9 ประโยค จัดเป็นบาเรียนเอก

สิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 10 ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช 1181 ตรงกับวันที่ 11 ก.ย.2362 พระชนมายุ 69 พรรษา ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกอยู่เพียง 3 ปี กับ 1 เดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน