อาลัย‘พระวรญาณมุนี’ หลวงตาละมัย วัดอรัญญิก

คอลัมน์ มงคลข่าวสด

พระวรญาณมุนี“หลวงตาละมัย สุธัมโม” หรือ “พระวรญาณมุนี” ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดอรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก พระเถระผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวสองแคว อีกทั้งยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มากด้วยพุทธาคมอีกรูปหนึ่ง งานพุทธาภิเษกที่แห่งใดต้องมีชื่อท่านไปร่วมด้วยแทบจะทุกงาน

มีนามเดิมว่า แจ่ม บุญประสิทธิ์ แต่คนทั่วไปนิยมเรียก ละมัย เกิดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2473 ที่บ้านหัวแท หมู่ที่ 8 ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก

ในวัยเยาว์ ศึกษาที่โรงเรียนเทศบาล 1 วัดน้อย อ.เมือง พิษณุโลก จนเรียนจบชั้น ป.4 ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายไปประกอบอาชีพค้าขายที่ตลาดสบตุ๋ยข้างสถานีรถไฟ อ.เมือง จ.ลำปาง ตรงกับช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากยากแค้นมาก

ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ครอบครัวย้ายกลับมาบ้านเกิดที่พิษณุโลก ในช่วงเหตุการณ์หลังสงคราม ครอบครัวนำหลานชายไปฝากกับหลวงตาอิ่ม ธัมมกาโม ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2493 ที่พัทธสีมาวัดจอมทอง ต.จอมทอง อ.เมือง โดยมีพระราชรัตนรังษี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีไปพร้อมกัน ในแผนกธรรมเรียนจบนักธรรมชั้นเอก ส่วนแผนกบาลีประสบปัญหาในเรื่องความจำ ทำให้ต้องยุติความพยายามที่ทุ่มเทมาหลายปี

ขอคำปรึกษาจากพระพิษณุบุราจารย์ (แพ พากุโล) เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารในขณะนั้น โดยได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานแทน ฝึกปฏิบัติรักษาอารมณ์ทำจิตใจให้สงบ

จึงมุ่งมั่นฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง และยังได้มีโอกาสรับการถ่ายทอดความรู้ในด้านวิทยาคม การปลุกเสก ลงเลขยันต์ ทำน้ำพระพุทธมนต์ตามวิธีการแบบโบราณาจารย์อย่างสมบูรณ์จากพระพิษณุบุราจารย์ด้วย ทำให้เกิดความชำนาญ ทั้งในด้านการอ่านและเขียนอักขระขอม การเป็นพระคณาจารย์ (เกจิอาจารย์) การเจริญภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐาน การบรรยายธรรม และการก่อสร้าง

หลังจากศึกษาและปฏิบัติในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีโอกาสออกเดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ มากมาย ล้วนแต่ทุรกันดารทั้งสิ้น

พระวรญาณมุนี

พ.ศ.2514 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้รับเลื่อนเป็นพระฐานานุกรมพระครูสมุห์ ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่พระครูประสาทธรรมวัตร ชั้นโท ชั้นเอก และชั้นพิเศษ ตามลำดับ

กระทั่งได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในพระราชทินนามที่พระวรญาณมุนี

สำหรับ “วัดอรัญญิก” คือวัดที่สร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อให้พระสังฆราชและพระสายอรัญวาสี ที่นิมนต์จากลังกาได้มาอยู่จำพรรษา

พระสายอรัญวาสีนิยมอยู่อย่างสงบตามป่าเขา ตามถ้ำ ไม่ข้องแวะกิจการงานในตัวเมือง วัดแห่งนี้จึงมีชื่อว่า วัดอรัญญิก หรือ วัดป่า

ในยุคนั้น วัดอรัญญิกเฟื่องฟูสุดขีด ภายในบริเวณวัดมีความร่มรื่นเงียบสงบ พระที่มาจำพรรษาอยู่ล้วนเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ต่อมาถึงกาลเสื่อมโทรม ทำให้วัดอรัญญิกถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน จนในปี พ.ศ.2514 ชื่อของวัดแห่งนี้ ได้กลับมาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของพุทธศาสนิก ชนอีกครั้ง

เป็นภิกษุที่ค้ำชูสังคม และมักให้คติธรรมแก่ชาวบ้านให้ครองตนด้วยความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ คือความไม่ประมาท ความเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ ละอายและกลัวความชั่ว มีขันติอดทน และกตัญญูกตเวที

แม้ท่านจะได้รับการยกย่องเช่นนั้น แต่ยังคงดำรงชีพ ดำรงตนด้วยความเรียบง่าย

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง มรณภาพอย่างสงบ ด้วยโรคประจำตัว ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก เมื่อเวลา 05.30 น. วันที่ 8 พ.ย.2562

สิริอายุ 89 ปี 3 เดือน 7 วัน พรรษา 70

ท่ามกลางความอาลัยของศิษยานุศิษย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน