สมเด็จพระมหาสมณเจ้า

กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

กรมพระยาวชิรญาณวโรรส – ฉบับวานนี้ (2 ธ.ค.) “พี่ลำใย” อยากทราบประวัติ 2 ท่านที่ ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 40 ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ พุทธศักราช 2563-2564 โดยประกาศยกย่องบุคคลสำคัญของประเทศไทยรวม 2 รูป ในสาขาสันติภาพ มีคุณูปการด้านพระพุทธศาสนา วิปัสสนากรรมฐาน การศึกษา การพัฒนาความเจริญงอกงามด้านจิตใจ ตลอดจนการปกครองคณะสงฆ์

ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครบรอบ 150 ปีชาตกาล ในวันที่ 20 มกราคม 2563 และ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครบ 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2464

เมื่อวานตอบประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปแล้ว วันนี้อ่าน พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นักการนักศึกษาและนักปกครองที่มีส่วนสำคัญทำให้คณะสงฆ์เป็นปึกแผ่น

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อ 12 เมษายน 2403 มีพระนามแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงศึกษาภาษาบาลีจนสามารถแปลธรรมบทได้ ทั้งยังศึกษาภาษาอังกฤษและโหราศาสตร์ เมื่อพระชันษา 13 ปี ทรงผนวชเป็นสามเณร ประมาณ 2 เดือน จึงทรงลาผนวช

ครั้นพระชันษา 20 ปี ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัด พระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา ปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ และพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ 1 พรรษา จึงย้ายไปประทับที่วัดมกุฏกษัตริยารามเพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของพระจันทรโคจรคุณ ผู้เป็นพระอาจารย์ ระหว่างนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรมที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร โดยมีพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเดช ฐานจาโร วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทรงแปลพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกาย และในปี 2436 ได้รับโปรดเกล้าฯ เพิ่มพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

2 พฤศจิกายน 2449 ได้รับสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรสฯ และปี 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก แต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ ทั้งกรุงเทพมหานครและหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต และเลื่อนพระอิสริยยศจากกรมหลวงขึ้นเป็นกรมพระยา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระราชวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย โดยทรงเปลี่ยนคำนำพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเฉลิมพระเกียรติเป็นพระองค์แรก และในปี 2455 ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนา ถวายแด่พระองค์ผู้เป็นมหาสังฆปริณายก

พระกรณียกิจ ทรงริเริ่มให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่เรียน พระธรรมวินัยในภาษาไทย กำหนดเป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ เรียกว่า นักธรรม ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย ให้พระภิกษุสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมประกอบกับวิชาการอื่นที่เอื้ออำนวยต่อการสอนพระพุทธศาสนา และทรงออกธรรมจักษุ นิตยสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทย รวมถึงทรงผลิตตำราและหนังสือที่คนทั่วไปสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย

ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองเมื่อปี 2441 ดำเนินการอยู่ 5 ปี ก็ขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานคือชั้นประถมศึกษาออกไปได้ทั่วประเทศ ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อให้การปกครองเป็นไปด้วยดี เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเองและประเทศชาติ จึงเกิดพ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) ขึ้น เป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย ทั้งเสด็จไป หัวเมืองเกือบทั่วราชอาณาจักรและเกือบตลอดพระชนม์ชีพ ทำให้ทรงทราบความเป็นไปของคณะสงฆ์และประชาชนในภูมิภาคต่างๆ แล้วนำข้อมูลและปัญหามาปรับปรุงแก้ไขในทุกด้าน ทรงรอบรู้ภาษาบาลี สันสกฤต อังกฤษ ฝรั่งเศส นิพนธ์เรื่องต่างๆ มากกว่า 200 เรื่อง และทรงชำระคัมภีร์บาลีไว้กว่า 20 คัมภีร์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2464

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน