สมเด็จพระอริยวงษญาณสมเด็จพระสังฆราช (สุก) : อริยะโลกที่ 6

สมเด็จพระอริยวงษญาณสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

เป็นพระมหาเถระที่ทรงพระคุณพิเศษในด้านวิปัสสนาธุระ จนมีพระฉายานามอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชนว่าพระสังฆราชไก่เถื่อนด้วยทรงสามารถแผ่พรหมวิหารธรรมให้ไก่ป่าเชื่องเป็น ไก่บ้านได้

สมเด็จพระอริยวงษญาณ

ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ (1) เดือนยี่ ปีฉลู จุลศักราช 1095 ..2276 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ, สันนิษฐานว่าเป็นชาวกรุงเก่า, ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก

..2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตน โกสินทร์ เมื่อได้ทรงจัดการข้างฝ่ายอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทรงพระราชดำริจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชาคณะในตำแหน่งต่างๆ ตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงแสวงหาพระเถระผู้ทรงคุณพิเศษจากที่ต่างๆ มาตั้งไว้ในตำแหน่งที่สมควร เพื่อช่วยรับภาระธุระทางพระพุทธศาสนาสืบไป

ในคราวนี้เองที่ได้โปรดให้นิมนต์ พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาอยู่วัดพลับ ให้เป็นพระญาณสังวรเถร พระอาจารย์วัดท่าหอย ดังกล่าว คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั่นเอง

ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ครั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้โปรดให้นิมนต์มาอยู่ในกรุงเทพฯ และทรงตั้งเป็นราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร

เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระฝ่ายอรัญวาสีนิยมความสงบวิเวก จึงได้โปรดให้มาอยู่วัดพลับ อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของธนบุรีครั้งนั้น คู่กับวัดรัชฎาธิษฐาน และอยู่ไม่ไกลจากพระนคร (วัดพลับ ต่อมาในรัชกาลที่ 3 พระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดราชสิทธาราม ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้)

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่เคารพนับถือเป็นอันมากของพระบรมราชวงศ์มาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 และรัชกาล ที่ 2 ปรากฏนามพระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์ นับแต่คราวทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เป็นต้นมา

รัชกาลที่ 2 โปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 7 ค่ำ (ปีชวด ..2359)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร เป็นสมเด็จพระสังฆราช วันพฤหัสบดี เดือน 1 ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช 1182 ..2363

ระหว่างอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ปรากฏว่าได้เป็นที่นับถือของชาวบ้านตลอดขึ้นไปจนถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ต่างพากันไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เห็นจะเป็นเพราะบรรดาสานุศิษย์เหล่านั้น ต่างได้เห็นกฤตยาคมอันขลังด้านเมตตาพรหมวิหารของท่านซึ่งสามารถเรียก ไก่เถื่อนจากป่าเป็นฝูงๆ มารับการโปรยทานจากท่านเต็มลานวัดทุกวัน

เหตุนี้ชาวบ้านสมัยนั้นจึงพากันเรียกท่านว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน เพราะท่านสามารถเรียกไก่เถื่อนออกมาจากป่า และ ยิ่งได้ลิ้มรสอาหารเสกจากท่านด้วยแล้ว ไก่เถื่อนที่ว่าถึงกับไม่ยอมกลับเข้าป่า และเชื่องเป็นไก่บ้าน

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 1 ปีกับ 10 เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 ขึ้น 13 ค่ำ ปีมะเมีย ..2365 มีพระชนมายุ 89 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง พระโกศองค์นี้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูงบางพระองค์ มีปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงด้วยเหตุที่ทรงเป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งนั้นเอง

พระราชทานเพลิง เมื่อเดือน 12 ..2365 ครั้นพระราชทานเพลิงแล้ว ได้โปรดให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิ ประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน