พระเทริดขนนก วัดป่าเลไลยก์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน จ.สุพรรณบุรี มีวัดเก่าแก่อยู่มากมาย และก็มีพระเครื่องที่แตกกรุออกมาหลายกรุ กรุที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักก็เยอะ อย่างพระกรุของวัดป่าเลไลยก์ ก็ไม่ค่อยได้เห็นกันนักครับ แม้แต่รูปก็หายาก เรามาคุยถึงวัดป่าเลไลยก์และพระกรุที่ขุดพบกันสักหน่อยนะครับ

วัดป่าเลไลยก์ ตั้งอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร วัดนี้สร้างตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด โบราณวัตถุที่สำคัญของวัดก็คือ องค์พระปางปาลิไลยกะ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” ซึ่งมีพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแล โปรดให้บูรณะวัดป่าเลไลยก์ เมื่อปี พ.ศ.1724 ซึ่งแสดงว่าองค์พระมีการสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ มีข้อสันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่กลางแจ้ง พระกรทั้งสองข้างหักชำรุดไปตามกาลเวลา

ภายหลังได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์กันอยู่หลายครั้ง ซึ่งก็อาจจะทำใหม่เป็นปางป่า เลไลยก์ ตามที่นิยมกันในสมัยต่อมา ถ้าเป็นตามที่สันนิษฐานกันไว้ พระพุทธรูปองค์นี้ก็น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างกันในสมัยทวารวดีก็เป็นได้ เท่าที่พอมีหลักฐานก็น่าจะมีการบูรณะกันมาถึง 3 ครั้ง จึงเห็นกันในปัจจุบันว่าพระพักตร์เป็นแบบศิลปะอยุธยา เขตอุปจารของวัดป่าเลไลยก์กว้างขวางมาก

พระเทริดขนนก วัดป่าเลไลยก์

วัดดอนกระต่ายก็อยู่ในเขตอุปจารของวัดป่าเลไลยก์ด้วย วิหารเก่าพังทลายร้างไปแล้ว มีคนเคยขุดพบพระขุนแผนเรือนแก้ว และที่เจดีย์หน้าวิหาร วัดป่าเลไลยก์ ก็ขุดพบพระเครื่องสมัยลพบุรี เรียกว่า พระเทริดขนนก “ปัจจุบันองค์พระเจดีย์ก็ยังอยู่ คาดว่าจะได้รับการบูรณะเรื่อยมา

ที่ด้านหลังพระอุโบสถวัดป่าเลไลยก์ มีวิหารเก่าอยู่หลังหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เรียกกันว่า “โบสถ์มอญ” พระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกเช่นกัน มีผู้เคยขุดพบพระเครื่องเรียกกันว่า “พระมอญสำลี” พระเครื่องที่ขุดพบนั้น พระเทริดขนนก เป็นพระเครื่องศิลปะลพบุรี แต่พระขุนแผนซุ้มเรือนแก้ว และพระมอญสำลี น่าจะเป็นพระที่สร้างในสมัยอยุธยา แสดงว่าวัดแห่งนี้มีพระสงฆ์อยู่สืบต่อกันมา และมีการบูรณปฏิสังขรณ์กันอยู่หลายยุค

พระขุนแผนซุ้มเรือนแก้ว เป็นพระเนื้อชินเงิน ผิวดำ บางองค์มีการปิดทองมาแต่ในกรุ

พระเทริดขนนก เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง มีไขขาวปกคลุม ทรงเทริดแบบขนนก เป็นพระประทับนั่งปางมารวิชัย ด้านหลังจะเป็นแอ่งเว้า และมีความบางไม่หนา เป็นที่นิยมกว่าพิมพ์อื่น

พระมอญสำลี เป็นพระเนื้อชินเงิน ผิวปรอทจับขาว คล้ายผิวพระกรุชุมนุมสงฆ์

พระเทริดขนนกกรุวัดป่าเลไลยก์ สันนิษฐานว่ามีจำนวนไม่มากนัก น่าจะพบไม่เกินร้อยองค์ และเป็นพระที่นิยมมากที่สุดของกรุนี้ สัณฐาน สูงประมาณ 4 ซ.ม. กว้างประมาณ 3 ซ.ม. พุทธคุณเด่นทางด้านคงกระพันชาตรี ปัจจุบันพระกรุวัดป่าเลไลยก์ไม่ค่อยได้พบเห็นกันครับ เนื่องจากจำนวนการพบพระคงจะไม่มาก เท่าที่ค้นดู ก็พอจะมีรูปพระเทริดขนนกที่อยู่กับนักสะสมบางท่านเท่านั้น

ในวันนี้จึงได้นำรูปพระเทริดขนนก ของกรุวัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี จากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน