พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

เรื่องราวเกี่ยวกับ “พญานาค” สำหรับประเทศไทยนั้นมีมาทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นประเพณีบั้งไฟพญานาค, พญานาค ณ ป่าคำชะโนด แม้แต่ปีนักษัตรชะตาราศี ยังมี “ปีมะโรง” อันสื่อถึง ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ความเชื่อเรื่อง “พญานาค” มีความเป็นมาอย่างไร?

พญานาค จะมีรูปลักษณ์และนามเรียกขานแตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละภูมิภาค แต่มีลักษณะพื้นฐานเหมือนกัน คือ เป็นงูตัวใหญ่ มีหงอนสีทอง ตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลา มีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี ทั้ง สีเขียว สีดำ หรือ 7 สี เหมือนสีรุ้ง ลักษณะสำคัญที่จะบ่งบอกตระกูลของพญานาค คือ “เศียร” ถ้าตระกูลธรรมดาจะมีเพียงเศียรเดียว ส่วนตระกูลที่สูงขึ้นไปก็จะมี 3 เศียร 5 เศียร 7 เศียร หรือ 9 เศียร ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก “พญาเศษนาคราช (อนันตนาคราช)” ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียรสมุทร “พญานาค” ยังเกิดได้ทั้งในน้ำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษ ทั้งยังสามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงามได้ด้วย

คติความเชื่อของลัทธิพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่างๆ และเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ ซึ่งจะเห็นได้จากคำพยากรณ์ อาทิ ปีนี้นาคให้น้ำ 1 ตัว แปลว่าน้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตร ถ้าปีไหนนาคให้น้ำ 7 ตัว หมายถึง น้ำจะน้อย เพราะนาคกลืนน้ำไว้ (จำนวนพญานาคกับปริมาณน้ำจะกลับกัน)

คติความเชื่อและตำนานต่างๆ เกี่ยวกับ “พญานาค” มักปรากฏในดินแดนที่ติดกับแม่น้ำโขง โดยเชื่อกันว่าเป็น “เมืองบาดาล” อันเป็นที่อยู่อาศัยของ “พญานาค” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ในแถบภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ผู้คนที่อยู่อาศัยก็จะสืบสานตำนานความเชื่อและเคารพศรัทธาอย่างต่อเนื่องสืบมา ยกตัวอย่างเช่น

ตำนานเมืองบาดาล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้านหัวเมืองจะมีลำห้วยหลวงไหลออกมา เรียกว่า ปากห้วยหลวง ตรงข้ามกับ อ.โพนพิสัย คือ บ้านโดน ในฝั่งลาว

“…ในหน้าแล้งจะมีหาดทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขงแถบบ้านโดน วันหนึ่งหญิงสาวชาวบ้านโดนลงมาตักน้ำที่หาดทราย เพราะบริเวณนั้นจะมีน้ำออกบ่อ (น้ำริน) แล้วหายตัวไป พ่อแม่ญาติพี่น้องตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ จนครบ 7 วัน คิดว่าเสียชีวิตแล้ว จึงจัดทำบุญอุทิศให้ ในราวเที่ยงคืนของวันดังกล่าว หญิงสาวคนนั้นก็ปรากฏตัวขึ้น สร้างความตระหนกตกใจเป็นอันมาก สุดท้ายนางได้เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า … ตอนไปตักน้ำ เห็นหมูตัวหนึ่งยกเท้าหน้าเรียกให้เข้าไปหา เมื่อเดินเข้าไปหมูตัวนั้นก็บอกให้หลับตาจะพาลงไปเมืองบาดาล สักพักหนึ่งเมื่อลืมตาปรากฏว่าตนมาอยู่อีกเมืองหนึ่งเหมือนๆ กับเมืองมนุษย์ แต่แปลกตรงที่ทุกคนนุ่งผ้าแดงและมีผ้าพันศีรษะสีแดงเหมือนกัน โดยด้านหน้าปล่อยให้ผ้าแดงห้อยลงเหมือนกับหัวงู เมื่อเดินตามชายคนนั้นไป (หมูกลายเป็นคน) ผู้คนก็จะถามว่า “นำมนุษย์ลงมาทำไม” ชายคนนั้นก็บอกว่า “พามาเที่ยวดูเมือง” และได้บอกแก่หญิงสาวว่าเมืองบาดาลนี้จะมีงานสมโภชในวันออกพรรษาของเมืองมนุษย์ โดยตลอด 3 เดือนที่เข้าพรรษาชาวเมืองจะจำศีลปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพุทธบูชา หลังจากเดินชมเมืองอยู่ไม่นาน ชายคนนั้นก็ได้นำขึ้นมาส่งบริเวณหาดทรายเหมือนเดิม … พ่อแม่ญาติพี่น้องได้ฟังดังนั้น จึงจัดงานบุญทำพิธีสู่ขวัญให้ หลังจากนั้น 7 วัน หญิงสาวก็ได้ล้มเจ็บลงและเสียชีวิตในที่สุด…”

สืบเนื่องมาถึง ตำนานบั้งไฟพญานาค “… ใน “วันออกพรรษา” เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งพญานาคแห่งแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงเฮ็ด (จุด) บั้งไฟถวายการเสด็จกลับ (ที่เห็นเป็นลูกไฟแดงอมชมพู ที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงสู่ท้องฟ้า) จนกลายเป็นประเพณีสืบมาในวันออกพรรษาทุกปี…”

หรือ ตำนานป่าคำชะโนด ณ วัดศิริสุทโธ (วัดป่าคำชะโนด) อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เป็นอีกแห่งหนึ่งซึ่งเกิดตำนานความเชื่อเรื่องพญานาค ว่า “เกาะคำชะโนดไม่เคยจมน้ำ เพราะมีพญานาคคอยปกปักรักษา” หรือ “ตำนานผีจ้างหนัง” รวมถึงปรากฏการณ์และประสบการณ์ต่างๆ ที่คนท้องถิ่นได้พบเจอและเล่าสืบต่อกันมาครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน